มหาวิทยาลัยสวนดุสิตจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนการเรือนแห่งแรกของประเทศไทย ชื่อ“โรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน” สังกัดกองอาชีวศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2477 ที่วังกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย-เทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร) มีจุดมุ่งหมายเพื่ฝึกอบรมการบ้านการเรือนสำหรับสตรีหลักสูตร 4 ปี และได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรอบรมครูการเรือนขึ้นเป็นครั้งแรกมีความมุ่งหมายเพื่อเตรียมผู้ที่จะออกไปมีอาชีพครูในแขนงนี้ ต่อมาในปี พ.ศ.2480 ได้ย้ายมาอยู่ที่วังจันทรเกษม(กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) และเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือนมาเป็น “โรงเรียนการเรือนวังจันทรเกษม” สังกัดกองและกรมเดิม โดยเปิดสอนหลักสูตรมัธยมการเรือน (หลักสูตร 3 ปี) และหลักสูตรการเรือนชั้นสูง (หลักสูตร 3 ปี) เพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2484 ได้ย้ายจากวังจันทรเกษมมาตั้งอยู่ในบริเวณสวนสุนันทา บนพื้นที่ประมาณ 37 ไร่ ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัยในปัจจุบันและเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนการเรือนพระนคร” ย้ายสังกัดจากกองอาชีว-ศึกษาไปสังกัดกองฝึกหัดครูกรมสามัญศึกษา ในขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการก็ได้จัดตั้ง “โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ” ขึ้น ในบริเวณพื้นที่เดียวกันกับโรงเรียนการเรือนพระนคร สังกัดกองฝึกหัดครู กรมสามัญศึกษา แต่แยกส่วนการบริหารจัดการออกจากกันเมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งกรมการฝึกหัดครูขึ้นตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ฉบับ พ.ศ. 2497 เพื่อรวมการฝึกหัดครูที่จัดขึ้นในกรมต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อเป็นการประหยัดและเพิ่มพูน ประสิทธิภาพในการปรับปรุงการผลิตครูทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โรงเรียนการเรือนพระนครจึงย้ายมาสังกัดกรมการฝึกหัดครู ในปี พ.ศ. 2498 และได้โอนแผนกฝึกหัดครูอนุบาลจากโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ มาสังกัด โรงเรียนการเรือนพระนคร
โรงเรียนการเรือนพระนครได้เปิดสอนหลักสูตร ป.กศ. (คหศาสตร์) เป็นปีแรกและเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็เปิดสอนหลักสูตรประโยคครูการเรือน ประโยคครูอนุบาล ระดับ ป.ป. (หลักสูตรครูประถม) และประโยคครูมัธยมการเรือนควบคู่กันไปด้วย
พุทธศักราช 2501
เปิดสอนหลักสูตร ป.กศ. และ ป.กศ. (ชั้นสูง) เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2504 กระทรวงศึกษาธิการประกาศยกฐานะโรงเรียนการเรือนพระนครเป็นวิทยาลัยครู ชื่อ “วิทยาลัยครูสวนดุสิต” สังกัดกองการฝึกหัดครู กรมการฝึกหัดครู
พุทธศักราช 2518
พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2518 มีผลบังคับใช้ กรมการฝึกหัดครูได้ปรับปรุงหลักสูตรขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหลักสูตรการฝึกหัดครูของสภาการฝึกหัดครู พ.ศ. 2519 ทำให้วิทยาลัยครูสามารถเปิดสอนได้ถึงระดับ ปริญญาตรี นอกจากนี้ยังได้มีการรวมโรงเรียนอนุบาลลอออุทิศกับการฝึกหัดครูอนุบาลเข้าด้วยกันเป็นภาควิชาการอนุบาลศึกษา สังกัดคณะครุศาสตร์ วิทยาลัยครูสวนดุสิต และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศเป็น “โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ” และเปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรสภาการฝึกหัดครู วิชาเอกการอนุบาลศึกษาเป็นครั้งแรกจากพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2518 ทำให้วิทยาลัยครูมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งระบบบริหารและวิชาการ ตำแหน่งหัวหน้าสถานศึกษาของวิทยาลัยครูได้เปลี่ยนไปเป็น “อธิการวิทยาลัย” พร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บริหารส่วนราชการอื่น ๆ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ เป็นส่วนราชการที่ประกอบด้วยอธิการ รองอธิการฝ่ายบริหาร รองอธิการฝ่ายวิชาการ และรองอธิการฝ่ายกิจการนักศึกษา สำนักงานอธิการ ประกอบด้วยแผนกต่าง ๆ 12 แผนก ด้านงานวิชาการได้จัดตั้งให้มีคณะวิชา 3 คณะ คือ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (มีภาควิชาในสังกัด 11 ภาควิชา) คณะวิชาครุศาสตร์ (มีภาควิชาในสังกัด 7 ภาควิชา) และคณะวิชาวิทยาศาสตร์ (มีภาควิชาในสังกัด 9 ภาควิชา)การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลให้วิทยาลัยมีการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารสถานที่ เพื่อใช้เป็นสำนักงานและห้องเรียนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการปรับปรุงโครงสร้าง ระบบบริหารและระบบวิชาการใหม่ แต่วิทยาลัยครูสวนดุสิตยังคงมีการจัดการศึกษาในสาขาเดียว คือ สาขาวิชาการศึกษา ตามหลักสูตรสภาการฝึกหัดครู ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. สูง) และระดับปริญญาตรี 4 ปี และ 2 ปี ต่อเนื่อง (ครุศาสตรบัณฑิต) จำนวน 11 วิชาเอก (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ทั่วไป คหกรรมศาสตร์ ศิลปศึกษา การศึกษาพิเศษ การอนุบาลศึกษา การประถมศึกษา อุตสาหกรรมศิลป์ และคณิตศาสตร์)
พุทธศักราช 2528
หลังจากที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2518 เป็น พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527 ทำให้วิทยาลัยครูสามารถเปิดสอนสายวิชาการอื่นได้ นอกเหนือจากสายวิชาชีพครู วิทยาลัยครูสวนดุสิตจึงเริ่มเปิดสอนสายวิชาการอื่น โดยเริ่มจากหลักสูตรระดับอนุปริญญา คือ อนุปริญญาศิลปศาสตร (อ.ศศ.) 3 วิชาเอก (วารสารและการประชาสัมพันธ์ ภาษาอังกฤษ และออกแบบนิเทศศิลป์) และอนุปริญญาวิทยาศาสตร์ (อ.วท.) 3 วิชาเอก (การอาหาร ผ้าและเครื่องแต่งกาย และศิลปประดิษฐ์) และได้มีการเปิดรับสมัครนักศึกษาชายเข้าเรียนเป็นสหศึกษาเป็นปีแรก
พุทธศักราช 2529-2534
วิทยาลัยครูสวนดุสิตได้ขยายการเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี สายวิชาการอื่นเพิ่มขึ้นหลายวิชาเอก ในสาขาวิทยาศาสตรบัณฑิตและศิลปศาสตรบัณฑิต ทั้งในระดับปริญญาตรี 4 ปี และปริญญาตรีต่อเนื่อง มีการเปิดสอนนักศึกษาตามโครงการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) รุ่นแรกในปี พ.ศ. 2529 โดยเปิดสอนทั้งสายวิชาชีพครูและสายวิชาการอื่นในระดับอนุปริญญา และระดับปริญญาตรี
พุทธศักราช 2535
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “สถาบันราชภัฏ” แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศ
พุทธศักราช 2538
ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538 ส่งผลให้วิทยาลัยครูสวนดุสิตเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันราชภัฏสวนดุสิต” สังกัดสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ กระทรวงศึกษาธิการ จากพระราชบัญญัติฉบับนี้ ทำให้สวนดุสิตสามารถขยายการจัดการศึกษาได้อย่างกว้างขวาง และหลากหลายรูปแบบมากขึ้น มีการเปิดสอนตามหลักสูตรสาขาวิชาการศึกษา สาขาวิชาศิลปศาสตร์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ มีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก ทั้งภาคปกติและภาคสมทบ นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับองค์กรภายนอก เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษา ด้วยการจัดตั้งศูนย์การศึกษานอกสถาบันจำนวน 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ซุปเปอร์เซฟ ศูนย์องค์การเภสัชกรรม และศูนย์อรรถวิทย์ โดยเปิดสอนระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี รับนักศึกษาภาคสมทบ
พุทธศักราช 2540
จัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยขึ้น และเริ่มเปิดสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจ (Master of Business Administration) โดยร่วมมือกับ Victoria University ประเทศแคนาดา และเปิดศูนย์การศึกษานอกสถาบันเพิ่มขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร (ศูนย์จรัญสนิทวงศ์ ศูนย์พงษ์สวัสดิ์ และศูนย์สุโขทัย) เป็นปีที่สถาบันทุ่มเทงบประมาณเป็นจำนวนมาก พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อใช้ในการเรียนการสอนและเป็นฐานข้อมูลระบบการสอนทางไกล (Video – conference) และระบบห้องสมุดเสมือน (Virtual Library) ที่สมบูรณ์แบบได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นครั้งแรกในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย
พุทธศักราช 2541-2546
เป็นช่วงระยะเวลาที่สถาบันราชภัฏสวนดุสิตได้ขยายการจัดการศึกษาออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งการเปิดสอนในหลักสูตรใหม่ ๆ เพิ่มเติม และการขยายศูนย์การศึกษาออกไปยังเขตปริมณฑลและต่างจังหวัด (ศูนย์ดุสิตพณิชยการสยาม ศูนย์เซ็ลทรัลปิ่นเกล้า ศูนย์อิมพีเรียล บางนา ศูนย์นครนายก ศูนย์ปราจีนบุรี ศูนย์ธนาลงกรณ์ ศูนย์บุษยมาส ศูนย์พณิชยการสยาม ศูนย์นครปฐม ศูนย์ชลบุรี ศูนย์พัทยา ศูนย์สระบุรี ศูนย์พะเยา ศูนย์ลำปาง ศูนย์ระนอง 2 ศูนย์พิษณุโลก ศูนย์ตรัง ศูนย์ลุมพินี และศูนย์หัวหิน) เนื่องจากมีผู้สนใจเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่เรียนภายในสถาบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้างและปรับปรุงใหม่ทางด้านการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาก็ได้มีการจัดการศึกษาทั้งในระดับปริญญาโท (ครุศาสตรมหาบัณฑิต รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต และนิเทศศาสตร มหาบัณฑิต) และเปิดสอนในระดับปริญญาเอกเป็นครั้งแรก (พ.ศ. 2545) หลักสูตรการจัดการดุษฎีบัณฑิต (Doctor of Management)
พุทธศักราช 2547
สถาบันราชภัฎสวนดุสิตได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพจาก “สถาบัน” เป็น “มหาวิทยาลัย” ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ชื่อว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต” สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
พุทธศักราช 2548-2551
จากพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ทำให้สวนดุสิตมีการปรับเปลี่ยนในด้านต่าง ๆ ทั้งโครงสร้างของระบบบริหารและการบริหารจัดการทางด้านวิชาการ รวมทั้งจากการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูประบบราชการ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องกำหนดแผนกลยุทธ์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549-2551 ในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจัดอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนาสังคม จัดการเรียนการสอนและภารกิจอื่นทั้งในมหาวิทยาลัย และศูนย์การศึกษานอกมหาวิทยาลัยที่กระจายอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ทุกภูมิภาคของประเทศมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้กำหนดอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญดั้งเดิม และ โดดเด่นเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสาขาวิชาที่มีความพร้อมสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมและท้องถิ่น มีทั้งหมด 4 ด้าน คือ
1. ด้านการศึกษาปฐมวัย
2. ด้านอุตสาหกรรมอาหาร
3. ด้านอุตสาหกรรมบริการ
4. พยาบาลศาสตร์
พุทธศักราช 2552-2556
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาเอาไว้ ดังนี้
1. เพื่อให้สอดคล้องกับแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551 – 2565) และแนวนโยบายของมหาวิทยาลัยในการที่จะพัฒนาโครงสร้างของหน่วยงานหลักในมหาวิทยาลัย ให้สอดคล้องกับ พันธกิจและประสิทธิผลของการบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดให้มีหน่วยงานใหม่เพิ่มขึ้นตามประกาศสภามหาวิทยาลัยนอกเหนือไปจากโครงสร้างเดิมตามกฎกระทรวงในการแบ่งส่วนราชการของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
2. การดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานจะต้องดำเนินการโดยมุ่งเน้นคุณภาพของงานเป็นสำคัญ และจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยในภาพรวมได้
3. การกำหนดอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยออกเป็น 4 ด้าน (เป็นสถาบันเฉพาะทาง ลักษณะที่เป็นสถาบันที่เน้นระดับปริญญาตรี)
– การศึกษาปฐมวัย
– อุตสาหกรรมอาหาร
– อุตสาหกรรมบริการ
– พยาบาลศาสตร์
4. การพัฒนาคุณภาพของการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ มาตรฐานการอุดมศึกษา และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา5. การเปลี่ยนแปลงปรัชญาและกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยจากการเป็นมหาวิทยาลัยที่ตระหนักถึงความอยู่รอดขององค์กร(Survival) ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสามารถในการสร้างความเข้มแข็งในการอยู่รอด (Survivability)
พุทธศักราช 2557
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตได้ทบทวนแนวทางในการพัฒนางานของมหาวิทยาลัย โดย
1. คำนึงถึงความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงทั้งนโยบาลและแนวทางในระดับมหภาคที่เกี่ยวข้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย ความต้องการของนักศึกษา บุคลากร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการใช้ประโยชน์จากสมรรถนะหลัก (Core Competencies) ของมหาวิทยาลัย
2. กำหนดให้การดำเนินงานทั้งทั้งมหาวิทยาลัยมุ่งไปสู่ทิศทางเดียวกันในรูปแบบการบริหารจัดการที่หลากหลายตามความเหมาะสมของหน่วยงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยตั้งไว้ และปรับปรัชญาของมหาวิทยาลัยจากการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสามารถในการสร้างความเข้มแข็งในการอยู่รอด (Survivability) ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่สามารถสร้างความเข้มแข็งในการอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน (Sustainable Survivability)
3. ยังคงพัฒนาอัตลักษณ์ 4 ด้านอย่างต่อเนื่อง แต่เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมอาหารเป็น อาหาร และเปลี่ยนจากพยาบาลศาสตร์ เป็น พยาบาลและสุขภาวะ อัตลักษณ์อีก 2 ด้าน ได้แก่การศึกษาปฐมวัย และอุตสาหกรรมบริการยังคงเดิม
4. กำหนดจุดเน้นการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย โดยปี 2558 เน้นการส่งเสริมมให้เกิดพัฒนานวัตกรรมปี 2559 เน้นการเชื่อมโยงระหว่างนวัตกรรมและการจัดการทรัพยากร และปี 2560 เน้นการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
พุทธศักราช 2558
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 เป็นมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ. 2558 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 17 กรกฏาคม พ.ศ. 2558 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม พ.ศ. 2558 มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ภายในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
โดยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 16 กรกฏาคม พ.ศ. 2558 อันถือเป็นสิริมงคลยิ่งแก่มหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 24 กรกฏาคม 2558 จึงกำหนดให้วันดังกล่าว คือวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เป็นวันเกิดของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำหรับการเปลี่ยนแปลงสถานะในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตไม่ถือเป็นส่วนราชการ และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดหรือออกรูปแบบการบริหารจัดการด้วยตนเองได้อย่างมีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากยิ่งขึ้น ทั้งการบริหารงานทั่วไป การบริหารจัดการงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานวิชาการ โดยมหาวิทยาลัยยังคงมีภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาตามเดิม
ลำดับความเป็นมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ปี พ.ศ.
|
ชื่อสถานศึกษา
|
สังกัด
|
ตำแหน่ง/ผู้บริหาร
|
2477 – 2480 |
โรงเรียนมัธยม วิสามัญการเรือน (วังกรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์) |
กองอาชีวศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงธรรมการ |
2477 ครูใหญ่ คุณหญิงเพชรดา ณ ป้อมเพชร์ (ม.ล. จิตรกุล กุญชร)
2477 รักษาการครูใหญ่ นางนิลรัตน์ บรรณสิทธิ์วรสาสน์
2477 – 2484 ครูใหญ่คุณหญิงไสววงศ์ ทองเจือ |
2480 – 2484 |
โรงเรียนการเรือน วังจันทรเกษม (วังจันทรเกษม) |
กองอาชีวศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงธรรมการ |
|
2484 – 2504 |
โรงเรียนการเรือนพระนคร (สวนสุนันทา) |
กองโรงเรียนฝึกหัดครู กรมสามัญศึกษา กระทรวงธรรมการ |
2484 – 2489 อาจารย์ใหญ่ นางบุญเกลื้อ กรลักษณ์
2489 – 2504 อาจารย์ใหญ่ คุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ์ |
|
2504 – 2538 |
วิทยาลัยครูสวนดุสิต |
กองโรงเรียนฝึกหัดครู (กองการฝึกหัดครู) กรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ |
2504 – 2518 ผู้อำนวยการ คุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ์
2518 – 2528 อธิการ ศาสตราจารย์เรวดี วงศ์พรหมเมฆ (พ.ร.บ. วิทยาลัยครู ฉบับที่ 1, 2518)
2528 – 2537 อธิการ รองศาสตราจารย์ลำพอง บุญช่วย (พ.ร.บ. วิทยาลัยครูฉบับที่ 2, 2527)
2537 – 2538 อธิการ รองศาสตราจารย์ธง รุญเจริญ |
|
2538 – 2547 |
สถาบันราชภัฏสวนดุสิต |
สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ กระทรวงศึกษาธิการ |
2538 – 2546 อธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร. ศิโรจน์ ผลพันธิน (พ.ร.บ. สถาบันราชภัฏ, 2538)
2546 – 2547 อธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร. สุขุม เฉลยทรัพย์ |
|
2547 – 2558 |
มหาวิทยาลัย ราชภัฎสวนดุสิต |
สำนักงานคณะกรรมการ การอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ |
2547 – 2556 อธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร. ศิโรจน์ ผลพันธิน
(พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏ, 2547)
2556 – 2558 อธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิทักษ์ จันทร์เจริญ |
|
2558 – ปัจจุบัน |
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต |
กระทรวงศึกษาธิการ |
2558 – 2559 อธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิทักษ์ จันทร์เจริญ
(พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, 2558)
2559 – ปัจจุบัน อธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน |
|
ผู้บริหารสถาบัน (อดีต-ปัจจุบัน)
ผู้บริหาร |
ระยะเวลาบริหาร |
- คุณหญิงเพชรดา ณ ป้อมเพชร์
- นางนิลรัตน์ บรรณสิทธิ์วรสาสน์
- คุณหญิงไสววงศ์ ทองเจือ
- นางบุญเกลื้อ กรลักษณ์
- คุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ
- ศาสตราจารย์เรวดี วงศ์พรหมเมฆ
- รองศาสตราจารย์ลำพอง บุญช่วย
- รองศาสตราจารย์ธง รุญเจริญ
- รองศาสตราจารย์ ดร. ศิโรจน์ ผลพันธิน
- รองศาสตราจารย์ ดร. สุขุม เฉลยทรัพย์
- รองศาสตราจารย์ ดร. ศิโรจน์ ผลพันธิน
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิทักษ์ จันทร์เจริญ
- รองศาสตราจารย์ ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน
|
พ.ศ. 2477
พ.ศ. 2477
พ.ศ. 2477 – 2484
พ.ศ. 2484 – 2489
พ.ศ. 2489 – 2518
พ.ศ. 2518 – 2528
พ.ศ. 2528 – 2537
พ.ศ. 2537 – 2538
พ.ศ. 2538 – 2546
พ.ศ. 2546 – 2547
พ.ศ. 2547 – 2556
พ.ศ. 2556 – 2559
พ.ศ. 2559- ปัจจุบัน |
|