สกว.หนุนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและบำเพ็ญประโยชน์

  สกว.เตรียมผลักดันงานวิจัยมุ่งเป้าท่องเที่ยวให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในเอเชีย นักวิจัยชี้ระนองมีความพร้อมสูงที่จะเป็นโมเดลตัวอย่าง พร้อมสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงบำเพ็ญประโยชน์ในกลุ่มจังหวัดสนุก เพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชนละขยายโอกาสในกลุ่มประเทศอาเซียน

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. เป็นประธานการนำเสนอผลงานวิจัยมุ่งเป้าด้านท่องเที่ยว ณ ห้องประชุม สกว. ประกอบด้วย โครงการ “การพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในเอเชีย” ซึ่งมี ศ. ดร.สมบัติ กาญจนกิจ จากคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ และ โครงการ “การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงบำเพ็ญประโยชน์ในกลุ่มจังหวัดสนุก (สกลนคร-นครพนม-มุกดาหาร)” โดยมี รศ. ดร.พรรณี สวนเพลง จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เป็นหัวหน้าโครงการ

จากกระแสความนิยมในศตวรรษที่ 21 ด้านการบริการและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับการเพิ่มคุณภาพชีวิต ทำให้การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดเฉพาะทาง คณะวิจัยจึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการในการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างไรก็ตามยังมีจุดอ่อนสำคัญ ได้แก่ 1) ความไม่ปลอดภัยด้านภัยธรรมชาติ ชีวิตและทรัพย์ 2) ความสามารถในการสื่อสารภาษาต่างประเทศของบุคลากรที่ให้บริการ 3) ภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อการให้บริการ เช่น บริการแอบแฝงหรือไม่ได้มาตรฐาน 4) ระยะเวลาการอนุญาตให้พำนักของชาวต่างชาติและผู้ติดตามไม่เอื้อต่อการเข้ามารักษาโรคบางโรคที่ต้องใช้เวลานาน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเชิงอุปสรรค เช่น การแข่งขันสูงขึ้นในประเทศกลุ่มอาเซียน นโยบายที่ยังไม่ชัดเจน ไม่สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่แน่นอนสำหรับการลงทุนระยะยาว เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ยังมีราคาสูง ความไม่พร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เป็นต้น

ผลการวิจัยพบว่าแม้แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งจะมีศักยภาพในการรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่ยังขาดการจัดการที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นและอินเดีย เช่น ขาดข้อมูลเชิงประจักษ์สนับสนุนคุณค่าต่อสุขภาพ การจัดการด้านความปลอดภัย การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวยังกระจัดกระจายและมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง การผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของเอเชียจึงต้องมีองค์ประกอบที่เป็นศูนย์ย่อย 4 ศูนย์ คือ ศูนย์ข้อมูลด้านการสถานการณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ศูนย์การพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว ศูนย์การพัฒนาบุคลากร และศูนย์การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งนี้ควรส่งเสริมกิจกรรมเพิ่มเติมเพื่อความเป็นเลิศ มีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น เช่น ส่งเสริมกิจกรรมในเทศกาลสำคัญและการจัดประชุมเชิงวิชาการเพื่อเผยแพร่ข้อมูลในระดับนานาชาติ กำหนดให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางหลักของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในเอเชียและสามารถเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทางรองในประเทศกลุ่มอาเซียนและเอเชีย

คณะวิจัยระบุว่าหน่วยงานหลักอย่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาควรจะสานต่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ ด้วยการกำหนดนโยบายเพื่อใช้เป็นข้อกำหนดทิศทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย เตรียมการรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในอนาคตให้เป็นตลาดเฉพาะทางหรือตลาดทางเลือก เชื่อมโยงและพัฒนาต่อยอดให้เป็นศูนย์กลางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคเอเชียที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และนำองค์ประกอบของศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในเอเชียมาจัดทำแผนและกลยุทธ์การปฏิบัติในแต่ละด้านที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างชัดเจน โดยมีหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้จากการสำรวจแหล่งท่องเที่ยว 15 แห่งใน 4 ภูมิภาค คณะวิจัยมีความเห็นว่าจังหวัดระนองมีความพร้อมสูง เนื่องจากมีจุดเด่นเรื่องน้ำพุร้อน และความพร้อมด้านอื่นๆ หากให้ความช่วยเหลือเชิงวิชาการแก่สถาบันการศึกษาในพื้นที่ เช่น นำพืชสมุนไพรสวนครัวมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และสุขภาพ ภายใต้ความร่วมมือขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น น่าจะผลักดันให้เป็นโมเดลตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ครบวงจรของไทยได้

ขณะที่การท่องเที่ยวเชิงบำเพ็ญประโยชน์ถือเป็นอีกมิติใหม่ของการท่องเที่ยว ด้วยการเพิ่มมิติการเรียนรู้และการแบ่งปันเข้าไปในการท่องเที่ยว เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างการท่องเที่ยวกับการบำเพ็ญประโยชน์ที่สร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่สนุกสนาน อิ่มเอมใจและประทับใจจากสิ่งที่นักท่องเที่ยวได้เข้าร่วมทำกิจกรรมระหว่างการท่องเที่ยว ทั้งนี้กลุ่มจังหวัดสนุกมีจังหวัดสนุกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว มีทรัพยากรที่โดดเด่นในระดับประเทศและนานาชาติ มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ธรรมะ และวัฒนธรรม รวมถึงเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญ อีกทั้งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศลาวและเวียดนามอีกด้วย

ผลลัพธ์จากงานวิจัยจะสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาการสร้างรายได้สาขาการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดสนุกที่มีค่าต่ำกว่ามาตรฐานได้ โดยเน้นการพัฒนากิจกรรมที่สร้างมูลค่าและคุณค่า สร้างรายได้และกระจายรายได้โดยคำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืนเพื่อนำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงสร้างการตื่นตัวให้เกิดความสนใจในหมู่นักท่องเที่ยวมากขึ้น อันสอดรับกับนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

คณะนักวิจัยได้กำหนดเส้นทางการท่องเที่ยวไว้ 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) ด้านการสอนและให้ความรู้ในโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเหมาะสำหรับนักศึกษาหรือนักเรียนที่จะมาออกค่ายอาสาพัฒนา เช่น สอนหนังสือ ภาษาอังกฤษ ซ่อมแซมอาคารเรียน ห้องน้ำ เป็นต้น 2) ด้านงานสาธารณสุขและดูแลเด็ก เช่น ล่ามแปลภาษาในโรงพยาบาล ดนตรีบำบัด 3) ด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานความรับผิดชอบอย่างมีจิตสำนึกต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับนำความรู้กลับไปประยุกต์ใช้หรือประกอบอาชีพ 4) ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เช่น สอนภาษาอังกฤษเพื่อสนทนาพื้นฐานในการต้อนรับแขกต่างประเทศ พัฒนาโฮมสเตย์และบรรจุภัณฑ์ของสินค้าพื้นบ้าน ฯลฯ โดยมีรายละเอียดในเส้นทางประกอบด้วย วัตถุประสงค์ แหล่งกิจกรรม การเตรียมตัวของนักท่องเที่ยว ที่พักแรม ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง บริษัทนำเที่ยวที่ให้บริการ

สำหรับแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงบำเพ็ญประโยชน์ในกลุ่มจังหวัดสนุก ประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมและให้ความรู้ในสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงบำเพ็ญประโยชน์ สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและต่างประเทศ รวมถึงการตลาดและการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงบำเพ็ญประโยชน์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ นักเรียนมัธยม นักเรียนระหว่างปี นักศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน+ (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) อเมริกัน ยุโรป และออสเตรเลีย ภายใต้กลยุทธ์ที่ประกอบด้วย การสร้างตราสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย ส่งเสริมการตลาดที่มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดควบคู่กับการนำส่งคุณค่าทางจิตใจให้แก่นักท่องเที่ยว สร้างเครือข่ายความร่วมมือและขยายโอกาสการตลาดร่วมกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา ในการทำโครงการร่วมกันและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทุกรูปแบบ นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดในเว็บไซต์และระบบฐานข้อมูลการท่องเที่ยวได้ที่ URLhttp://sanukvolunteer.com/th/main

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=9397%3A2016-04-18-04-15-46&catid=44%3A2013-11-25-06-49-47&Itemid=369   เผยแพร่เมื่อ วันจันทร์, 18 เมษายน 2559 11:15