วันนี้ (๒๐ ธ.ค.๖๐) เวลา ๑๐.๓๐ น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชา ทินัดดามาตุ เสด็จไปยังอาคารรักตะกนิษฐ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ทรงเปิดงานการประชุมวิชาการ คหกรรมศาสตร์ระดับชาติ ประจำปี ๒๕๖๐ “การเพิ่มมูลค่าผลผลิตคหกรรมศาสตร์ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม” ซึ่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และสมาคมคหเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์และถ่ายทอดผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมไทย เผยแพร่ผลงานด้านวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรม สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย ๔.๐ หรือ Thailand ๔.๐ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยน โครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ดังนั้น ควรมีความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ทราบถึงโอกาสและผลกระทบ สามารถนำไปเพิ่มศักยภาพในการทำงาน เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเข้าสู่ยุค Thailand ๔.๐ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการนำเสนอผลงานเด่นของแต่ละสถาบันในด้านคหกรรมศาสตร์ อาทิ ด้านอาหาร ศิลปะประดิษฐ์ เสื้อผ้า สิ่งทอเครื่องแต่งกาย บ้านและการตกแต่ง การดูแลเด็กและผู้สูงอายุ พร้อมทั้ง เป็นเวทีสำหรับการฝึกทักษะวิชาชีพให้กับนักเรียน นักศึกษา ศิษย์เก่า และประชาชนที่สนใจ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา สถานประกอบการ ชุมชน กับครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป
ในการนี้ ทรงประทานถ้วยรางวัลพระราชทาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชา ทินัดดามาตุ แก่ทีมชนะเลิศ จากการแข่งขัน “นวัตกรรมอาหารจากงานวิจัยเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” ในระดับเยาวชนอายุไม่เกิน ๑๘ ปี และระดับอุดมศึกษา จากนั้นประทานรางวัลแก่ทีมชนะเลิศ การประกวด “วิจิตรตระการงานแกะสลักผักและผลไม้เทิดไท้องค์ราชินี ในรัชกาลที่ ๙” ในระดับเยาวชนอายุไม่เกิน ๑๘ ปี และระดับอุดมศึกษา รวมทั้งประทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้สนับสนุนการจัดงาน จำนวน ๗๐ ราย
จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการงานวิจัยภาคโปสเตอร์และผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย และบูธนิทรรศการงานด้านคหกรรมศาสตร์ จากสมาคมคหเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย จำนวน ๑๐ แห่ง ตลอดจนกิจกรรมจากหน่วยงานต่างๆ
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มี อัตลักษณ์โดดเด่นด้านอาหาร การศึกษาปฐมวัย อุตสาหกรรมการบริการ และการพยาบาลและสุขภาวะ ภายใต้กระบวนการพัฒนาบนพื้นฐานของความเป็นเลิศ โดยมุ่งหวังให้บัณฑิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมีคุณธรรมกำกับความรู้ เพียบพร้อมด้วยสติปัญญาและจริยธรรม เป็นผู้ใฝ่รู้ มีวิจารณญาณ มีจิตใจเสียสละ มีบุคลิกภาพดีเหมาะสม และมีความสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม