ในระหว่างวันที่ 18 – 20 สิงหาคม 2561 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง ดำเนินการจัดกิจกรรม Kick off ศูนย์เรียนรู้และคลังความรู้ชุมชนเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน : กิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเรียนรู้ชุมชน ณ ชุมชนบ้านเหล่าพัฒนา ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีตัวแทนชุมชนเข้าร่วมเดินทางเพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้แก่ ชุมชนบ้านปูเต้อ ตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดลำปาง และชุมชนบ้านท่าฟ้าใต้ ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งจากบุคลากรจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิตและตัวแทนจากชุมชนที่เข้าร่วมศึกษาดูงานจำนวนกว่า 80 คน กำหนดการประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวชุมชน และการสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว” ในวันที่ 18 สิงหาคม 2561 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ลำปาง โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ขวัญนภา สุขคร กล่าวเปิดการอบรมและบรรยายพิเศษในหัวข้อการพัฒนาศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวชุมชนชน รวมถึงการเปิดโอกาสให้ตัวแทนแต่ละชุมชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนพร้อมถ่ายทอดประสบการณ์และความสำเร็จบนเวทีซึ่งกันและกัน
กิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเรียนรู้ชุมชน ระหว่างวันที่ 19 – 20 สิงหาคม 2561 ณ ชุมชนบ้านเหล่าพัฒนา ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก นายสุทัศน์ จอมเม็ด รองประธานโฮมสเตย์บ้านเหล่าพัฒนา และนายแพทย์ประจำตำบลเมืองก๋าย รวมถึงนางพิจิตร เพชรพลอยศรีตัวแทนเจ้าของโฮมสเตย์บ้านเหล่าพัฒนา ได้กล่าวต้อนรับคณะศึกษาดูงาน และการบรรยายเกี่ยวกับบริบทชุมชนบ้านเหล่าพัฒนา รวมถึงการบริหารจัดการท่องเที่ยวชุมชน และการจัดการโฮมสเตย์เพื่อให้ได้รับการรับรอง Home Stay Standard Thailand ซึ่งสัญลักษณ์ประกอบด้วยหลังคาทรงไทยลายกลอน มีสีน้ำตาลใช้เป็นสัญลักษณ์ เพื่อแสดงถึงโฮมสเตย์ที่อยู่ในชนบทของไทย ตัวอักษร Home Stay มีสีเขียว หมายถึง การท่องเที่ยวรูปแบบโฮมสเตย์ ซึ่งนักท่องเที่ยวจะพักรวมกับเจ้าของบ้านในบ้านหลังเดียวกัน ตัวอักษร Standard Thailand มีสีแดง หมายถึง ใช้ยืนยันว่าเป็นโฮมสเตย์ที่ได้รับมาตรฐานของประเทศไทย พร้อมร่วมกิจกรรมบายศรีสู่ขวัญ รับชมการแสดงชุดวิถีชีวิตชาวม้ง อาทิ เช่น ระบำเก็บใบเมี่ยง ฟ้อนดาบและตีกลองสะบัดชัย
สำหรับกิจกรรมศึกษาดูงาน ณ ชุมชนบ้านเหล่าพัฒนา ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ คณะศึกษาดูงานได้ร่วมในกิจกรรมฐานการเรียนรู้ต่างๆ ที่ทางชุมชนได้จัดเตรียมไว้ ได้แก่
1) การทำเหมี้ยง โดยเก็บใบเหมี้ยงสดโดยเลือกเก็บตั้งแต่ใบที่ 5 ถึงยอด เมื่อเด็ดได้เต็มกำใช้ตอกมัด ใส่ลงตะกร้าจนเต็มและนำเหมี้ยงมานึ่งทันที โดยใส่ลงในไหอัดให้แน่น ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง เมื่อนึ่งเสร็จแล้วเทออกจากไหให้เหมี้ยงเย็น นำมามัดตอกใหม่อีกครั้งหนึ่ง บีบน้ำออกแล้วมัดให้แน่นจากนั้นจึงนำมาบรรจุลงต่าง โดยแต่ละชั้นให้ใส่เหมี้ยงให้แน่น กดให้เกิดความแน่นเพื่อไล่อากาศออกและปิดปากถุงให้แน่น พร้อมทั้งปิดใบตองสาดที่พาดต่างไว้หุ้มเป็นลำดับสุดท้าย ใช้ค้อนไม้ตอกเข็มลงซึ่งทำด้วยไม้ ตอกลงตรงกลาง เพื่อปิดให้แน่น
2) การปรุงอาหาร “เมนูส้าใบเหมี้ยง” โดยนำใบเหมี้ยงสดที่เก็บมาได้ล้างให้สะอาด หั่นพอหยาบ นำมาคลุกเคล้ากับปลากระป๋อง ใส่มะเขือส้มและปรุงรสให้มีความกลมกล่อม
3) กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การทำขนมพื้นบ้าน – ข้าวมันปิ้ง” โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกันเรียนรู้การทำข้าวมันปิ้งไส้ถั่วและไส้มันในรูปแบบของชุมชนบ้านเหล่าพัฒนา ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
โดยคณะศึกษาดูงาน ได้รับองค์ความรู้ทั้งในด้านการบริหารจัดการท่องเที่ยวชุมชน การจัดการด้านโฮมสเตย์เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาสู่มาตรฐานโฮมสเตย์ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฐานทรัพยากรของชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยวชุมชน โดยสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมตามบริบทของชุมชน และบรรลุวัตถุประสงค์ตามไปศึกษาดูงานในครั้งนี้