มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง ได้ดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการศึกษาเรียนรู้ชุมชน ณ ชุมชนบ้านท่าขันทอง ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ ๑๘–๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๑ โดยมีคณะชุมชนเข้าร่วมเดินทางเพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประกอบด้วย ชุมชนบ้านนาตอง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ และชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ซึ่งมีกำหนดการและกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย

กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวชุมชน และการสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว” ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๑ ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยสวนดุสิต            ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนของแต่ละชุมชนแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ และความสำเร็จในการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวของแต่ละพื้นที่บนเวทีเสวนา

กิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเรียนรู้ชุมชนต้นแบบ ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๑ ณ ชุมชนบ้านท่าขันทอง ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเมื่อคณะศึกษาดูงานเดินทางไปถึง ณ ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง โดยได้รับเกียรติจาก นายเศรษฐศักดิ์ พรหมมา ปลัดเทศบาลตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นผู้กล่าวต้อนรับคณะศึกษาดูงาน แนะนำข้อปฏิบัติการอยู่ร่วมกันในชุมชน บริบทชุมชนบ้านท่าขันทองและความเป็นมาของชุมชนใหญ่ของอีสานใน   อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่ย้ายถิ่นมาลงหลักปักฐานอยู่รวมกันจนถึงปัจจุบันเป็นเวาลามากกว่า ๖๐ ปี หลังจากนั้นได้ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เรื่อง “การบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างไรให้ยั่งยืน” ซึ่งเป็นการนำแนวทางในการบริหารจัดการชุมชนบ้านท่าขันทอง มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดถึงความสำเร็จในการบริหารจัดการชุมชน หลังจากเสร็จสิ้นภาคบรรยาย ได้นำคณะศึกษาดูงานเดินทางโดย      รถอีต๊อกเพื่อนำไปจุด Check In ณ ลานออนซอนเด ริมแม่น้ำโขง เพื่อเก็บบรรยายการยามเย็นของลำน้ำ และให้คณะศึกษาดูงานได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก และกิจกรรมในช่วงตอนเย็นได้จัดพิธีบายศรีผูกแขนแก่คณะผู้มาเยือน ซึ่งเป็นพิธีกรรมพื้นถิ่นของชาวอีสาน พิธีแห่ขันโตกและร่วมรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน (ขันโตกดินเนอร์) หลังจากนั้นทางชุมชนได้จัดการแสดงเพื่อต้อนรับคณะศึกษาดูงานประกอบด้วย การแสดงแหย่ไข่มดแดง การแสดงหมอแคน หมอลำ โดยได้เปิดเวทีให้คณะศึกษาดูงานและทางชุมชนได้ฟ้อนรำร่วมกันอย่างสนุกสนานและอบอุ่น ก่อนที่จะแยกย้ายกันพักผ่อนตามอัธยาศัย ณ บ้านพักโฮมสเตย์ที่ทางชุมชนได้จัดเตรียมไว้

สำหรับกิจกรรมศึกษาดูงานทางชุมชนบ้านท่าขันทอง ได้จัดฐานการเรียนรู้ออกเป็นจำนวน ๒ ฐาน เพื่อให้คณะศึกษาดูงานเข้าร่วมกิจกรรมตามฐาน โดยได้แบ่งกลุ่มคณะศึกษาดูงานออกเป็น ๒ กลุ่ม ในการเวียนฐานเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วย

ฐานการเรียนรู้ที่ ๑ นั่งรถอีต๊อกออกเดินทางไปชมการทำเกษตรสวนเสาวรสปลอดสารเคมี ซึ่งเป็นสวนเกษตรตามรอยพ่อ และให้คณะศึกษาดูงานเก็บและลองชิมความอร่อยกันแบบสดๆ การเรียนรู้ในการทำชา   ถั่วดาวอินคา การอบสมุนไพร การนวดแผนไทย และการทำป้ายไม้ประดิษฐ์

ฐานการเรียนรู้ที่ ๒ นั่งรถอีต๊อกออกเดินทางไปชมการทำสบู่ การทอผ้าพื้นถิ่นของชุมชนบ้านท่าขันทอง การสีข้าวกล้องด้วยสองมือ และล่องเรือแม่น้ำโขงเพื่อชมธรรมชาติทั้งสองฝั่ง สายน้ำที่คั่นระหว่างไทยกับ สปป.ลาว และมีการขับกลอนเล่าเรื่องนครโบราณสุวรรณโคมคำ ซึ่งเป็นตำนานของลำน้ำโขงที่เล่าสืบขานต่อกันมาก

          โดยคณะศึกษาดูงานได้รับองค์ความรู้ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฐานทรัพยากรชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชนได้อย่างเหมาะสม เป็นการสร้างเครือข่ายและก่อเกิดมิตรภาพที่ดีของชุนชนบ้านท่าขันทอง ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย , ชุมชนบ้านนาตอง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ และชุมชนบ้านป่าเหมี้ยง ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง และบรรลุวัตถุประสงค์ตามความต้องการในการพัฒนาของชุมชนที่ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้