มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการยกระดับสมรรถนะวิชาชีพครูปฐมวัยมุ่งสู่การพัฒนาเพื่อความเป็นเลิศ หรือ Super Teacher โดยบูรณาการการเรียนการสอนในรายวิชาสัมมนาการศึกษาปฐมวัย หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ตามโครงการความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยการอบรมครั้งที่ 1 ณ ศูนย์ยะลา จัดขึ้นในหัวข้อ ดิจิทัล คิดส์ พลิกโฉมห้องเรียน (Digital Kids for the Flipped Classroom) ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายณัฐพล แย้มฉิม ผู้อำนวยการศูนย์ยะลา โครงการ รมป.2 เป็นประธานเปิดโครงการ และได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จุฑาวุฒิ จันทรมาลี ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุระสิทธิ์ ทรงม้า ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นวิทยากร บรรยายและจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ ดิจิทัล คิดส์ พลิกโฉมห้องเรียน (Digital Kids for the Flipped Classroom) กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำทักษะดิจิทัลไปใช้ในการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ให้กับเด็กปฐมวัย สามารถกระตุ้นการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัยเกิดความสนุก และเพลิดเพลิน ไม่น่าเบื่อหน่าย สามารถนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน และสามารถพัฒนาตนเองสู่ครูมืออาชีพได้เพื่อรองรับการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เข้าสู่พลเมืองยุคดิจิทัล โดยกิจกรรมในการอบรมประกอบด้วย
กิจกรรมที่ 1 การพัฒนาทักษะดิจิทัล (Digital Skills) ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาสมอง
กิจกรรมที่ 2 การเขียนโค้ดสร้างเสียงเพลงตามจินตนาการ เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักสังเกต สามารถออกเสียงตามทำนองเพลงและฝึกทักษะการใช้ภาษา
กิจกรรมที่ 3 กิจกรรมกลุ่ม ทักษะดิจิทัลที่ 1 ถึง ทักษะดิจิทัลที่ 6
ซึ่งกลุ่มผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ ครูผู้ดูแลเด็กจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จากจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา รวม 97 คน จัดขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน 2561 ณ ห้องประชุมเวิ่ง ช่าย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
สำหรับโครงการยกระดับสมรรถนะวิชาชีพครูปฐมวัยมุ่งสู่การพัฒนาเพื่อความเป็นเลิศ หรือ Super Teacher มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาครูผู้ดูแลในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูโรงเรียนอนุบาล และบุคลากร ทางการศึกษา ให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในองค์กรแห่งการเรียนรู้ตามแนวทางของการสร้างชุมชนการเรียนรู้ ทางวิชาชีพ (PLC) และสามารถนำความรู้ไปพัฒนาการของเด็กปฐมวัย โดยยึดหลักการการจัดการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และสามารถนำกระบวนการที่เกิดจากการอบรมไปใช้ในชั้นเรียนได้จริง สามารถนำความรู้ด้านเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนางาน ตระหนักรู้ถึงผลกระทบของสื่อเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อเด็กปฐมวัย และนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย