ด้วยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นองค์กรหลักในการบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพและระบบสุขภาพภาคประชาชนให้มีคุณภาพ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพึ่งตนเองด้านสุขภาพที่ยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม ด้วยการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานสถานพยาบาลภาครัฐ เอกชนและสถานประกอบการเพื่อสุขภาพสู่มาตรฐานสากลและพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมทั้งพัฒนาและยกระดับการจัดการสุขภาพภาคประชาชน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยการพัฒนาศักยภาพส่งเสริมสนับสนุนบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) อาสาสมัครประจำครอบครัว (อสค.) อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.) ในการดูแลสุขภาพและการดำเนินงานพัฒนาเชิงระบบ คือ ตำบลจัดการคุณภาพชีวิต “ตำบลวิถีชีวิตใหม่ ปลอดภัยจากโควิด19 ชุมชนสุขกาย สุขใจ สุขเงิน สุขสามัคคี” ในการสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อตำบลเข้มแข็งด้วยระบบการดูแลตนเองและช่วยเหลือกัน การจัดบริการปฐมภูมิโดยชุมชนที่เชื่อมโยงกับรัฐ และการจัดการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งปัจจุบันมี อสม.กว่า 1,040,000 คน ดูแลทุกครัวเรือนใกล้ชิด พัฒนาสู่ อสม. 4.0 จำนวน 305,801 คน ยกระดับ อสม. เป็นหมอประจำบ้าน 156,867 คน นอกจากนี้ยังมี อสต.จำนวน 5,214 คน รวมถึง อสค. จำนวนกว่าล้านคน ซึ่งเป็นกลไกและกำลังคนในการเสริมสร้างศักยภาพการดูแลสุขภาพตนเองตั้งแต่ระดับครอบครัว (อสค.) จนถึงระดับชุมชน เพื่อเสริมสร้างให้คนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดี ระบบปฐมภูมิเข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาคุณภาพทั่วถึงและยั่งยืน
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ระลอกใหม่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้สนับสนุนให้ อสม.อสต.มีบทบาทในการเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด 19 ทั้งในคนไทยและกลุ่มคนต่างด้าวในโรงพยาบาลสนาม ศูนย์ห่วงใยแรงงานต่างด้าว หรือ Factory Quarantine (FQ) หรือ โรงพยาบาลสนามในโรงงาน หอพัก สถานประกอบการ ชุมชนและพื้นที่ชายแดน ซึ่ง อสม. และ อสต. ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท เสียสละเป็นอย่างยิ่ง และในการปฏิบัติงานในปัจจุบันที่ต้องดูแลอยู่ห่าง ๆ ด้วยความเป็นห่วงทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย การปฏิบัติงานครั้งนี้ สบส.ต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ทักษะการสื่อสาร และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้หาภาคีเครือข่ายที่มีความเก่ง ความถนัด มีความสามารถและเชี่ยวชาญในศาสตร์ของตนเอง รวมถึงสามารถบูรณาการศาสตร์ทางด้านสาธารณสุขมาร่วมด้วยช่วยกันในงานป้องกันโรคโควิด 19 ในชุมชน โดยอาสาสมัครสาธารณสุข
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จึงเรียนเชิญ แพทย์แผนไทย ดร.อมรรัตน์ เรืองสกุล ประธานกรรมการพัฒนาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์นวัตกรรมและผู้ประกอบการธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษา เป็นวิทยากรให้การอบรมและสร้างสรรค์งานผลงานใหม่ ๆ ในการนำทีมอาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมสร้างสรรค์ผลงานอย่างมืออาชีพ ซึ่งทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้เห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์ผ่านสื่อสังคมเป็นจำนวนมากมาแล้ว
โดยสิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือจาก พท.ดร.อมรรัตน์ เรืองสกุล และอาจารย์ นักศึกษาด้านนิเทศศาสตร์นวัตกรรมให้มาร่วมด้วยช่วยกันในการให้บริการวิชาการ คือ
1.การส่งต่อการสื่อสารให้คนรู้ว่า อสม. อสต.ในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน จ.สมุทรสาคร ได้ทำงานอย่างหนักเพื่อแบ่งเบาภาระของแพทย์ พยาบาลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
2.จะทำอย่างไรให้ อสม.อสต.เป็น youtuber ในการนำผลการดำเนินงานของ อสม. อสต. ที่ปฏิบัติงานเป็นประจำมาเป็นเนื้อหา (content) ในการนำเสนอต่อสาธารณะ
- ผลิตคู่มือประชาชน แผ่นพับ คลิปวิดีโอสั้น ๆ ในการปฏิบัติตัวในแต่ละสถานที่ (โรงงาน หอพัก ห้องเช่า บ้านเช่า ชุมชน พื้นที่ชายแดน โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ศูนย์ห่วงใยแรงงานต่างด้าว สถานกักกันตัวในลักษณะต่าง ๆ) และวิธีปฎิบัติตัวที่บ้านและชุมชน ภายหลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลสนามหรือสถานกักตัว ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว
- สร้างนวัตกรสังคมจาก อสม. อสต.ที่ต้องมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ มีพฤติกรรมเป็นต้นแบบ มีทักษะการใช้แอปพลิเคชัน มีจิตอาสาพัฒนาสร้างสุข เพื่อส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืนด้วยบทบาทนวัตกรสังคม ยุคประเทศไทย 4.0 ที่เป็นเสาหลักที่ 6 ของความร่วมมือระหว่างประเทศเอเชียในกลุ่ม ACD ที่กำหนดให้วางแนวทางอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและผลักดันมาโดยตลอด พร้อมกับเสนอตัวเป็นผู้นำในเสาหลักนี้ ในที่ประชุมกลุ่มประเทศเอเชียได้ให้ความเห็นชอบเมื่อ ตุลาคม 2559 การประกอบการเพื่อสังคมเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม มองหา คิดค้น แนวทางหรือรูปแบบการทำงานใหม่ ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น การพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ในการสื่อสาร การเฝ้าระวังและคัดกรอง การดำเนินมาตรการทางสังคม การปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการ ฯลฯ การประกอบการเพื่อสังคมเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของเครือข่ายเพื่อสังคม การประกอบการเพื่อสังคมต้องอาศัยความร่วมมือและการขับเคลื่อนพร้อมกันทุกภาคส่วน การสร้างนวัตกรทางสังคมทั้งในภาครัฐและสังคม รวมถึงสิ่งที่สำคัญยิ่ง คือ การสื่อสารเพื่อปรับเปลี่ยนนวัตกรรม