นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชานิเทศศาสตร์นวัตกรรมและผู้ประกอบการธุรกิจ หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นายพงศธร แก้ววงค์ศรี นายสันติพล อ่วมแก้ว นางสาวธัญธร บัวจีน ออกฝึกประสบการณ์ ณ กองประชาสัมพันธ์ ช่วยงานเติมประสบการณ์ในรายการ Poll Talk by Suan Dusit Poll EP.36 ข้อมูลข่าวสารในยุคโควิด-19 ซึ่งมี นางสาวอลิศ พันธ์พรสม เจ้าหน้าที่กองงานประชาสัมพันธ์ เป็นอาจารย์พี่เลี้ยง

สรุปผลการสำรวจความคิดเห็น โดยนางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “ข้อมูลข่าวสารในยุคโควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,213 คน สำรวจวันที่ 31 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนติดตามข่าวสารตามความสะดวกของตนเอง ร้อยละ 29.43 โดยติดตามผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมากที่สุด ร้อยละ 74.81 ทั้งนี้มองว่าข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันให้ความรู้แง่มุมใหม่ ๆ มีการวิเคราะห์เชิงลึก ร้อยละ 52.24 มีข่าวลือ เฟคนิวส์ ข้อมูลเกินจริง ร้อยละ 49.09 ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือต้องมีการระบุที่มามีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน ร้อยละ 78.32 มาจากหน่วยงาน องค์กรที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับ ร้อยละ 57.48 สื่อที่ประชาชนเชื่อมั่นมากที่สุด คือ โทรทัศน์ ร้อยละ 85.24 นักวิชาการ นักวิเคราะห์ นักวิจัย ร้อยละ 69.33 สิ่งที่อยากฝากบอก “สื่อมวลชน” ณ วันนี้ คือ ควรนำเสนอข่าวตามความเป็นจริง ไม่บิดเบือน ร้อยละ 78.71 มีจรรยาบรรณและจิตสำนึกในหน้าที่ ร้อยละ 76.24

แพทย์แผนไทย ดร.อมรรัตน์ เรืองสกุล ประธานกรรมการพัฒนาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์นวัตกรรมและผู้ประกอบการธุรกิจ และประธานศูนย์ขับเคลื่อนนวัตกรรม คณะวิทยาการจัดการ (MSci Innovation Drive Center) [MIDC] มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้ความเห็นว่า จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลแสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการให้สื่อมวลชนปรับเปลี่ยนวิธีคิด ตรวจสอบข่าวก่อนนำเสนอ และมีอุดมการณ์ จรรยาบรรณอย่างสูงสุดในการทำหน้าที่สื่อมวลชน ปัจจุบันการขายข่าวเชิงพาณิชย์ยังมีอยู่มาก และอาจจะมากขึ้นด้วยจาก Hate Speech หรือ ความรุนแรงทางวาจา และ Hate Crime หรืออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง แม้สื่อจะมีเสรีภาพเพียงใด แต่สื่อก็ควรจะคำนึงถึงเสรีภาพนั้นด้วย การเสนอข่าวบางอย่างควรมีกระบวนการตรวจสอบ กลั่นกรองข่าวสารอย่างจริงจัง ควรหันมาทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative Reporting) หรือข่าวในลักษณะ Data Journalism หรือ Data Analytics ให้มากขึ้น อีกเรื่องที่ต้องพึงระวังเมื่อใดสื่อมวลชนได้หยิบยกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาจาก Hate Speech และ Hate Crime ที่เกิดจากความเกลียดชังขึ้นมาในสังคม ประเด็นปัญหาต่าง ๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นปัญหาที่เกิดสะสมมาเป็นระยะเวลานาน กรณีที่สื่อหยิบยกประเด็นใดขึ้นมาตอกย้ำ จึงควรระวังในการกระทบเทือนทางจิตใจ เหตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคนในสังคม บางอย่างเกิดจากความเกลียดชังส่วนบุคคล การวางตัวของสื่อมวลชนเองก็ลำบาก เมื่อต้องตกอยู่ในสถานะที่ต้องรายงานข่าว คำถามเกิดขึ้นว่า รายงานอย่างไรให้กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกน้อยที่สุด และการแก้ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ แก้ที่สื่อมวลชนอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะเหตุเกิดจากมนุษย์ ต้องแก้ที่ระดับจิตใจมนุษย์ การเกิดปัญหาด้านนี้ขึ้นมาได้เพราะมนุษย์ขาดความรัก และปรารถนาดีต่อกัน ต่อมความเกลียดชังมีมากกว่าความรู้สึกที่ดี ๆ ที่จะมีต่อการแก้ไขปัญหา บางครั้ง Hate Speech และ Hate Crime อาจเกิดขึ้นโดยที่แต่ละฝ่ายไม่ตั้งใจ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วผู้ที่รับช่วงต่อคือสื่อมวลชน ต้องไม่ฉายภาพของความขัดแย้งซ้ำแล้วซ้ำอีก ต้องไม่จุดประเด็นใหม่เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความเกลียด หลีกเลี่ยงการรายงานแบบกระตุ้นต่อมโกรธและความเกลียดชัง เป็นศิลปะอย่างหนึ่งของสื่อมวลชนเช่นกันที่จะจับภาพมุมใด รายงานแบบใด เล่าเรื่องแบบไหนที่ทำให้เกิดความแตกแยกน้อยที่สุด นับวันจะเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยที่ฝังเข้าไปในส่วนลึกของจิตใจ เมื่อต้นเหตุมาจากความคิดและจิตใจของเราเอง จะแก้ได้คงต้องแก้ที่ความคิดและจิตใจของทุก ๆ ฝ่ายเช่นกัน