โครงการนี้เป็นโครงการด้านการศึกษาปฐมวัยแบบพหุวิทยาการ จากฐานความรู้ในรายวิชาสมรรถนะทางภาษาไทยสำหรับครูปฐมวัย โดยมีอาจารย์ประจำรายวิชาผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจมาศ ขำสกุล เป็นผู้รับผิดชอบในตอนเรียน NA ศูนย์การศึกษานครนายก และร่วมบูรณาการกับ 5 หน่วยงานหลัก ทั้งจากหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย ได้แก่ 1) คณะครุศาสตร์ โดยความอนุเคราะห์จากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีณัฐ สกุลหอม 2) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยความอนุเคราะห์จากรองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพงษ์ ลีลากิจไพศาล 3) ศูนย์การศึกษานครนายก โดยความอนุเคราะห์จากผู้อำนวยการศูนย์การศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรี ดร.มงคลชัย บุญแก้ว 4) โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ศูนย์การศึกษานครนายก โดยความอนุเคราะห์จากครูใหญ่โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ครูศรชัย อุตศรีนอก และ 5) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ที่สนใจ โครงการนี้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยใช้ความหลากหลายทางการศึกษา มุ่งเน้นผสมผสานระหว่างการเรียนรู้ทั้งในและนอกชั้นเรียนผ่านระบบออนไลน์ การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาคนทุกช่วงวัย การเชื่อมโยงกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนงานหรือกิจกรรมของมหาวิทยาลัย รวมถึงศูนย์การศึกษานครนายกได้ให้บริการเป็นแหล่งข้อมูลประสานงาน และสถานที่ในการจัดอบรมผ่านระบบประชุมซูม สนับสนุนการใช้พื้นที่สร้างสรรค์ การเรียนรู้ การจัดสภาพแวดล้อม และสนับสนุนผู้เรียนนอกเหนือจากระบบการเรียนออนไลน์ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงการสร้างและหล่อหลอมคนสวนดุสิตในการสร้างงานวิชาการสู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งโครงการประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลักในการอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ได้แก่ 1) หัวข้อ การจัดการเรียนรู้ของครูในยุคปัจจุบัน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีณัฐ สกุลหอม คณบดีคณะครุศาสตร์ ได้ให้แนวทางและการพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวของครู และแนวคิดทางด้านการศึกษาปฐมวัยในยุคปัจจุบัน 2) หัวข้อ การอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการพัฒนาการออกเสียงสำหรับเด็กด้วยฐานกรณ์บำบัด โดยอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจมาศ ขำสกุล ได้นำองค์ความรู้ด้านสัทศาสตร์มาประยุกต์ใช้อย่างง่ายในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย การแก้ไขปัญหาการพูดช้า การพูด ไม่ชัด เป็นการช่วยเสริมสร้างความเข้าใจให้ครู ผู้ปกครองได้รู้แนวทางในการฝึกเด็ก และสร้างความมั่นใจให้แก่เด็กในการปฏิสัมพันธ์ และ 3) หัวข้อ การผลิตสื่อนิทานสำหรับเด็กปฐมวัย: ภาษาวัฒนธรรมและสื่อสร้างสรรค์พัฒนาการสมวัย โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สำเนียง ฟ้ากระจ่าง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริศนา ฟองศรัณย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ให้แนวทางในการผลิตสื่อนิทานให้เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัยการคัดเลือกนิทานสำหรับเด็ก การคิดโครงเรื่อง และการใช้ภาษาให้เหมาะสมกับวัย ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมอบรมรวมจำนวน 103 คน ประกอบด้วยครูจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่สนใจ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสวนดุสิต บุคคลทั่วไป และนักศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต หลังจบการอบรมผู้เข้าร่วมอบรมได้รับเกียรติบัตรเพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพการทำงาน และการเตรียมตัวสู่ครูผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัยต่อไปในอนาคต