โครงการนี้เป็นโครงการในรายวิชาสมรรถนะทางภาษาไทยสำหรับครูปฐมวัยตอนเรียน NA ศูนย์การศึกษานครนายก มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจมาศ ขำสกุล อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบรายวิชา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ว่าที่ร้อยตรี ดร.มงคลชัย บุญแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานครนายกได้เป็นประธานให้โอวาทแก่นักศึกษาในวันสัมมนา ซึ่งกิจกรรมนี้จัดโดยนักศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยชั้นปีที่ 1 รหัส 64 เป็นผู้ดำเนินโครงการสัมมนาเพื่อบูรณาการองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาการสื่อสาร และการนำความรู้ในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับภาษาศาสตร์สาขาสัทศาสตร์มาประยุกต์ใช้อย่างง่ายร่วมกับการฝึกออกเสียงเป้าหมายด้วยสื่อนิทานเพื่อพัฒนาและบำบัดการออกเสียงภาษาไทยให้แก่เด็กปฐมวัย ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี (TQF1) ในด้านคุณธรรมจริยธรรม ด้านความรู้ ด้านการมีทักษะทางปัญญา ด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่น ด้านการนำเทคโนโลยีมาบูรณาการ และด้านวิธีวิทยาการจัดการเรียนรู้เพื่อนำเสนอความรู้ภายใต้สภาวะแวดล้อมในภาวะโควิด 19 ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ 1) การเสวนาเรื่อง “จิตวิทยาการสื่อสารกับเด็ก” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สฤษดิ์ ศรีโยธิน รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นวิทยากร และ 2) การคัดเลือกนิทานส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาไทย โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจมาศ ขำสกุล อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ การนำเสนออินโฟกราฟฟิก และแนวทางการพัฒนาเสียงพยัญชนะภาษาไทยสำหรับเด็กปฐมวัย โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ปริศนา ฟองศรัณย์เป็นผู้ให้แนวทางแก่นักศึกษา พร้อมทั้งคำชี้แนะ และการต่อยอดงานในการจัดประสบการณ์เรียนรู้สำหรับครูและเด็กปฐมวัยในอนาคต ซึ่งนักศึกษาหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยนำเสนองานประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) การฝึกฐานกรณ์เสียงปุ่มเหงือก (ต, ท, และ ด) 2) การฝึกฐานกรณ์เสียงริมฝีปากทั้งสอง เสียงปุ่มเหงือก และการฝึกฐานกรณ์เสียงหลังปุ่มเหงือก (ม, ด, ซ, และ ช) 3) การฝึกเสียงสระหน้า (อี, เอ, และแอ) และ 4) การฝึกเสียงสระไล่ระดับลิ้น และรูปปาก สระหน้า สระกลาง และสระหลัง (อี, อา, และสระอู) เป้าหมายกิจกรรมดังกล่าวเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้แก่นักศึกษาได้เข้าใจปัญหาในด้านการออกเสียงภาษาไทยที่อาจเกิดกับเด็กเล็ก และแนวทางการบำบัด ลดความคับข้องใจและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เด็กในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และเป็นครูปฐมวัยที่มีความรู้ความเข้าใจสามารถนำความรู้ด้านภาษาศาสตร์-สัทศาสตร์มาประยุกต์ใช้ได้อย่างง่าย และเกิดประสิทธิภาพในห้องเรียนต่อไปในอนาคต