เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จไปทรงเป็นองค์ประธานงานกาล่าดินเนอร์ ในโครงการ “สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕” และทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “พระแม่แห่งแผ่นดิน” ณ โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ

​โครงการนี้ จัดขึ้นโดยสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการพัฒนาและส่งเสริมงานหัตถศิลป์ไทย ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทยให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนําเสนออัตลักษณ์ของผ้าทอท้องถิ่น เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหมไทย ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าแห่งภูมิปัญญาของไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ผ้าไทย ให้มีความร่วมสมัย และคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างสง่างาม สร้างความนิยม และความภาคภูมิใจในการสวมใส่ผ้าไทยได้จริงในชีวิตประจำวัน และสร้างให้เกิดกระแสนิยมในการแต่งกายด้วยผ้าไทย พร้อมทั้งต่อยอดให้ผ้าไทยเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทยและเผยแพร่สู่สากล โดยได้มีการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติในการสร้างสรรค์คุณประโยชน์ในด้านการใช้และการพัฒนาคุณค่าผ้าไทย ให้เป็น “๙๐ ต้นแบบ สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์” จำนวน ๙๐ ท่าน

​โดย ดร.ขวัญนภา สุขคร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาลำปาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะนักวิชาการและผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่มีผลงานด้านการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผ้าไทยมาอย่างต่อเนื่อง ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการของสหพันธ์ฯให้เป็นหนึ่งในผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ กล่าวคือ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านผ้าไทยที่ได้รับการยอมรับและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ด้านการจัดการความรู้ ศึกษาวิจัยและเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่องผ้าไทย ด้านการส่งเสริมนำผ้าไทยไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรมผ้าไทย ด้านการสนับสนุนวิถีการแต่งกายผ้าไทย และในฐานะแม่ญิงล้านนาซึ่งเป็นผู้ให้นิยาม “ผ้าไทย” ว่าเป็น “เส้นสายลายผ้า ภูมิแห่งคุณค่า ที่สะท้อนวิถีศรัทธาและความเชื่อของผู้คนในหลากหลายมิติ” ได้รับการพิจารณาจากสหพันธ์ฯให้เป็น ๑ ใน ๙๐  บุคคลต้นแบบ สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ และได้เรียนเชิญเพื่อเป็นเกียรติเข้าร่วมงานและเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มที่ระลึกในวันเวลาดังกล่าว

​ทั้งนี้บุคคลผู้ได้รับการพิจารณาเป็น “๙๐ ต้นแบบ สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์” มีอาทิ ม.ร.ว.วรรณาภรณ์ ศุขเนตร, คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม, จรรย์สมร วัธนเวคิน, ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์, ละออ ตั้งคารวคุณ, ผศ.ดร.พรทิพย์ พุกผาสุก, ม.ล.อรดิศ สนิทวงศ์, อาจารย์วีรธรรม ตระกูล เงินไทย, มร.รอฟ วอน บูเรน, อาจารย์เสรี วงษ์มณฑา, อาจารย์สุรพล วิรุฬห์รักษ์, โกมล พานิชพันธ์, จงจรูญ มะโนคำ, เตือนใจ (กุญชร ณ อยุธยา) ดีเทศน์, เผ่าทอง ทองเจือ, สมชาย แก้วทอง, ธีระ ฉันทสวัสดิ์, ประภากาศ อังศุสิงห์, ส้มโอ หิรัญกฤษฎิ์ ภัทรพิบูลย์กุล, ปัญญา พูลศิลป์, เอก ทองประเสริฐ, พลพัฒน์ อัศวะประภา, พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์, มีชัย แต้สุจริยา, ศิริชัย ทหรานนท์, ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร, พยอม วลัยพัชรา, วาสนา รุ่งแสงทอง ลาทูรัส, วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข, สุทธิพงษ์ จุลเจริญ, สิงห์ จันทะคุณ, สงคราม งามยิ่ง, อมตา จิตตเสนีย์, กรศิริ สง่าศิลป์, จตุพร ลิ้มปิยะศรีสกุล, มาลีรัตน์ ปลื้มจิตรชม, พนิดา ชอบวณิชชา, ดร,ณฤดี เคียงศิริ, พญ.เฉลิมวรรณ ศศิประภา, เพ็ญพักตร์ ศรีทอง, สายพิณ พหลโยธิน, อานุไร จิตต์สุรงค์, รพิ ทิมอุดม, และ ดร.ขวัญนภา สุขคร เป็นต้น