(19 ก.พ.66) หลักสูตรธุรกิจจีน-อาเซียน ม.สวนดุสิต ร่วมกับ สพฐ. และองค์กรพันธมิตร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้บุคลการทางการศึกษาทั่วประเทศ โดยครูสอนภาษาจีนจากภาคกลางและภาคตะวันออก ตอบรับแนวทางส่งเสริมการเรียนธุรกิจจีนและทุนการศึกษาจีนเป็นอย่างดี  

          สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ร่วมกับ หลักสูตรธุรกิจจีน-อาเซียน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ CATS Global Schools จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้สู่การต่อยอดเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21 ประจำปี 2566 เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และกระบวนการคิดให้แก่ ครู และบุคลากรทางการศึกษา ในรูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงบูรณาการของแต่ละโครงการในความร่วมมือ และจะสัญจรไปทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เริ่มจากภาคกลางและภาคตะวันออก ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 – 19 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยมี ดร.อรนุช มั่งมีสุขศิริ ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและลูกค้าสัมพันธ์ และประธานหลักสูตรธุรกิจจีน-อาเซียน ร่วมเปิดการอบรมฯ

          โดยในส่วนของโครงการความร่วมมือทางการศึกษา “1 + 2 + 1” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สพฐ. หลักสูตรธุรกิจจีน-อาเซียน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน จะมีทั้งการบรรยายให้ความรู้และมุมมองใหม่เกี่ยวกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก ในหัวข้อ “China 2023: Game Changer”, การอบรมเชิงปฏิบัติเพื่อร่วมกันพัฒนาเทคนิคการสอนของครูภาษาจีน ในหัวข้อ “การสอนภาษาจีนเชิงสถานการณ์ไทยในยุคปัจจุบัน” การบรรยายในหัวข้อ “การสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (HSK/ HSKK/ YCT) และหัวข้อ “ทำอย่างไรให้สามารถพิชิตทุนการศึกษาในประเทศจีนได้” ซึ่งเป็นการให้ความรู้เรื่องทุนการศึกษารูปแบบต่างๆ รวมถึงการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอน ข้อได้เปรียบ และการให้ทุนการศึกษาของโครงการฯ 1+2+1 หลักสูตรธุรกิจจีน-อาเซียน แผนการเรียนที่ 2 เรียน 2 ประเทศ รับ 2 ปริญญา และเรียนปี 1 ควบคู่กับการเรียนขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งบรรดาครูสอนภาษาจีนจากภาคกลางและภาคตะวันออกที่เข้าร่วมโครงการต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับประโยชน์จากการร่วมอบรมในครั้งนี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้และทักษะที่ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนกับครูโรงเรียนต่างๆ มุมมองเกี่ยวกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจและธุรกิจของจีน และโอกาสทางการศึกษาที่ดีจากหลักสูตรธุรกิจจีน-อาเซียน ซึ่งจะได้นำกลับไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน รวมถึงแนะแนวทางเรียนศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีกับหลักสูตรธุรกิจจีน-อาเซียน ที่ต่างมองว่าเป็นโอกาสทางการศึกษาที่เหมาะกับยุคสมัยที่จีนมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและธุรกิจโลก

          สำหรับการอบรมฯ ในครั้งต่อไป จะมีขึ้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในระหว่างวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2566 ต่อด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 4-5 มีนาคม 2566 และปิดท้ายที่จังหวัดขอนแก่น ในระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม 2566