ปัจจุบันปัญหาการรายงานข่าวส่วนใหญ่ขาดการวิเคราะห์เชิงลึก ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย นักศึกษาที่เรียนในวิชา นวัตกรรมการสื่อข่าวและการรายงานข่าวเชิงลึก ขณะที่เป็นเยาวชนจำเป็นต้องบ่มเพาะการทำข่าวอย่างมีวิจารณญาณ ค้นหาข้อมูลรอบด้านที่จะนำมาสู่การหาทางออกของปัญหา ส่วนหนึ่งจึงจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมการรายงานข่าวด้วยการประยุกต์ใช้ Big data analytics มาใช้ในการรายงานข่าว ใช้กระบวนการวิเคราะห์เซ็ตข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อค้นหารูปแบบความสัมพันธ์ของข้อมูลเหล่านั้นที่ซ่อนอยู่ข้างใน หาสิ่งเชื่อมโยงที่เชื่อมข้อมูลเหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกัน และข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่องานข่าว เช่นเดียวกับข่าวสืบสวนสอบสวน (Investigative journalism) ผลการวิเคราะห์ข้อมูลนี้สามารถนำไปสู่การทำแผนการรายงานข่าวที่มีประสิทธิภาพ ได้รูปแบบการรายงานข่าวแบบใหม่ที่สามารถปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น ที่สำคัญแพร่กระจายข่าวได้ด้วยข้อมูลที่เป็นจริงที่ผ่านการวิเคราะห์เชิงลึก และตรวจสอบข่าวก่อนออกสู่สาธารณชน ในครั้งนี้ แพทย์แผนไทย ดร.อมรรัตน์ เรืองสกุล และ ผศ.ดร.ธนกฤตา ปริณดาโชติเดชา อาจารย์ผู้สอนวิชานวัตกรรมการสื่อข่าวและการรายงานข่าวเชิงลึก พร้อมด้วยนายธีระเดช กลิ่นพุฒซ้อน เจ้าหน้าที่สำนักงาน (บริหารงานทั่วไป) ได้เชิญ ดร.เสกสรรณ ประเสริฐ ผู้อำนวยการองค์กรสืบสวนสอบสวนเบาะแส และอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรนวัตกรรมการสื่อสารการสืบสวนสอบสวน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก และ ดร.รุ่งรดิศ คงยั่งยืน ผู้ช่วยผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ) มหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งองค์กรสืบสวนสอบสวนเบาะแสเป็นหน่วยงานคู่ความร่วมมือของหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์นวัตกรรมและผู้ประกอบการธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ เป็นวิทยากรเข้าอบรมปฏิบัติการในหัวข้อ นวัตกรรมการสื่อข่าวและการรายงานข่าวสืบสวนสอบสวน (Investigative journalism) ให้กับนักศึกษาชั้นปี 1 ที่เรียนในวิชา นวัตกรรมการสื่อข่าวและการรายงานข่าวเชิงลึก ในวันพุธที่ 29 มีนาคม 2566 ระหว่างเวลา 13.00 – 16.00 น. ณ อาคาร 32 ชั้น 3 ห้อง 307 พร้อมร่วมวิพากษ์การนำเสนอประเด็นข่าวสืบสวนสอบสวนจากนักศึกษา ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติงานข่าวเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป