วันที่ 8 กันยายน 2566 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดประทานพระวโรกาสกรุณาให้กระทรวงวัฒนธรรมนำโดย นางยุา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา และคณะภาคีเครื่อข่ายเฝ้าทูลเกล้าถวายหนังสืออาหารสุขภาพพระสงฆ์ “บุญแห่งทาน อาหารแห่งศรัทธา” ซึ่งเป็นหนังสืออาหารเพื่อการส่งเสริมสุขภาพพระภิกสงฆ์และสามเณร ณ ตำหนักอรุณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหนคร โดยอาจารย์พงศ์อนันต์ ศิริแสงไพรวัลย์ หัวหน้าฝ่ายผลิตอาหารประจำศูนย์อาหารตุสิตนฤมล ศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ (โรงเรียนการอาหารนานาชาติ สวนดุสิต) สังกัดโรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้รับเชิญให้ร่วมเข้าเฝ้าในนามผู้แทนสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย

วธ.จับมือภาคีเครือข่าย จัดทำหนังสืออาหารสุขภาพพระสงฆ์ 96 เมนู “บุญแห่งทาน อาหารแห่งศรัทธา”ถวายสมเด็จพระสังฆราช

วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2566 เวลา 09.30 น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระวโรกาสให้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา พลอากาศโทนายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ ผู้อำนวยการสถาบันมหิตลาธิเบศร นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา และผู้แทนสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย เข้าเฝ้าถวายสักการะ และทูลเกล้าถวายหนังสืออาหารสุขภาพพระสงฆ์ “บุญแห่งทาน อาหารแห่งศรัทธา” โดยการสนับสนุนของฝ่ายสาธารณสงเคราะห์มหาเถรสมาคม โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ณ ตำหนักอรุณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปวธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับฝ่ายสาธารณสงเคราะห์มหาเถรสมาคม โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมสุขภาพพระภิกษุและสามเณร  ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สถาบันมหิตลาธิเบศร แพทยสภา และกรมการศาสนา ขับเคลื่อนโครงการ “บุญแห่งทาน อาหารแห่งศรัทธา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระกุศล เนื่องในมงคลสมัยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุ 96 พรรษา โดยจัดทำหนังสืออาหารสุขภาพพระสงฆ์ 96 เมนู  ภายใต้ชื่อ “บุญแห่งทาน อาหารแห่งศรัทธา” ซึ่งรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำเมนูอาหารสุขภาพพระสงฆ์ ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่หลากหลาย และพัฒนาแนวทางขยายผลการสร้างเสริมสุขภาวะแก่ศาสนิกชนของศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย ให้เกิดการเรียนรู้วิธีการบริหารชีวิตด้วยการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสม ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตจนสะสมเป็นโรคต่างๆ เช่น หลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน  และอ้วนลงพุง  ซึ่งหนังสืออาหารสุขภาพพระสงฆ์ 96 เมนู “บุญแห่งทาน อาหารแห่งศรัทธา” ได้เผยแพร่ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ และ E-book แก่ผู้ประกอบอาหาร พระสงฆ์ ผู้สูงอายุ และประชาชน สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการตักบาตรด้วยอาหารสุขภาพ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของการรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น โดยได้ดำเนินการเผยแพร่และแจกจ่ายหนังสือดังกล่าวไปยังส่วนภูมิภาคทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดหนังสือในรูปแบบ E-book ได้ที่ www.dra.go.th

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (ปวธ.) กล่าวต่อว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ภาคคณะสงฆ์และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคม ร่วมใจกันดำเนินงานเพื่อสนับสนุนองค์ความรู้ บุคลากร ผู้ทรงคุณวุฒิ สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วย 1. การจัดให้มีการประชุมหารือ การประสานงาน และให้ความร่วมมือกันในการจัดกิจกรรมด้านแพทย์อาสาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร 2. สนับสนุนองค์ความรู้ บุคลากร ผู้ทรงคุณวุฒิ สถานที่ และสิ่งอํานวยความสะดวก ในการจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อส่งเสริมด้านสุขภาพที่ดีแด่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร และ 3. การเผยแพร่องค์ความรู้และจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพพระสงฆ์และสามเณร ตลอดจนการใช้ช่องทางการสื่อสาร เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ความร่วมมือนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อให้หน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้รับทราบและเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรม โดยมีเป้าหมายให้พระภิกษุสงฆ์และสามเณร มีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักต่อการดูแลสุขภาพตนเอง นำไปสู่การปรับเปลี่ยนและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อปัญหาด้านสุขภาพ

รวมถึงยังได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันมหิตลาธิเบศร แพทยสภา และมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ร่วมออกหน่วยแพทย์อาสา โดยได้รับความร่วมมือจากวัดเป็นแหล่งให้บริการด้านสาธารณสุขอย่างครบวงจร สามารถให้บริการทางการแพทย์เบื้องต้น เช่น การวินิจฉัยโรคทั่วไป การรักษาโรคทั่วไป การให้คำแนะนำด้านสุขภาพแก่พระภิกษุสงฆ์ นอกจากนี้ ยังจะจัดตั้งคลินิกในวัดเพื่อสนับสนุนให้บริการด้านสาธารณสุขอื่น ๆ เช่น การฉีดวัคซีน การคัดกรองโรค การส่งเสริมสุขภาพ และการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันอีกด้วย