วันที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 05.30 น. นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นำคณะทำงานควบคุมตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “หมูย่างเมืองตรัง” ประกอบด้วย พาณิชย์จังหวัดตรัง ปศุสัตว์จังหวัดตรัง ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษา ตรัง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจประเมินผู้ผลิตและประกอบการค้าสินค้าหมูย่างเมืองตรัง ตามหลักเกณฑ์การใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อยกระดับสินค้าสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐาน รวมถึงสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า “หมูย่างเมืองตรัง” จากผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต ให้ใช้ตรา GI “หมูย่างเมืองตรัง”การลงพื้นที่ของคณะทำงานในวันนี้ ลงพื้นที่โรงย่างหมู “โกด้วงหมูย่าง” ของนายศักดา จันทร์ประทีป ตั้งอยู่ที่ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้ตรา GI เจ้าแรกๆของจังหวัดตรัง หมูย่างของโกด้วง หมักโดยวัตถุดิบพิเศษ คือ “อู่เชียงฝัน” และใช้เทคนิคการย่างใช้ไม้ฟืนจากไม้ยางพาราก่อนจะนำหมูลงไปย่างให้หนังตึงแล้วนำขึ้นมาสักหนัง และนำหมูลงย่างจนได้หมูย่างขึ้นชื่อของเมืองตรัง นางสาวสุภากิตติ์ เกลี้ยงสงค์ พาณิชย์จังหวัดตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรังได้ให้ความสำคัญกับสินค้า “หมูย่างเมืองตรัง” ซึ่งได้ดำเนินขอใช้ตรา GI มาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลา 10 ปี และดำเนินการขอต่ออายุการใช้ตราอย่างต่อเนื่องจนถึงครั้งนี้ และเพื่อเป็นการกำกับดูแลรักษามาตรฐานของสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรังได้รับงบประมาณจากจังหวัดตรัง ให้ดำเนินการขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์“หมูย่างเมืองตรัง” ภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตรัง (Geographical Indication : GI) ในเชิงพาณิชย์ โดยดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาตรัง โดย ดร.ทรงศักดา ชยานุเคราะห์และคณะ ทั้งนี้ การตรวจประเมินกระบวนการผลิตหมูย่างเมืองตรัง จะดำเนินการตรวจประเมิน 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงการเตรียมหมักหมูย่างและช่วงการย่างหมู ซึ่งคณะทำงานฯได้กำหนดแผนการลงพื้นที่ตรวจประเมินผู้ผลิตและผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรังที่เข้าร่วมโครงการฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 36 ราย (ประเภทผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้า จำนวน 29 ราย ประเภทผู้ประกอบการค้า จำนวน 7 ราย) ซึ่งขณะนี้คณะทำงานฯ ลงพื้นที่ตรวจประเมินไปแล้ว 12 ราย โดยจะดำเนินการตรวจประเมินให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2567 และภายหลังจากการตรวจประเมินเสร็จสิ้นแล้ว คณะทำงานฯ จะนำผลการตรวจประเมินเข้าที่ประชุมคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อพิจารณาก่อนนำส่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่ออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามลำดับต่อไป ซึ่งผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้าที่ได้รับอนุญาตให้ตราสัญลักษณ์ GI จะมีอายุ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาต
ขอบคุณข่าวจากเพจ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดตรัง