เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2567 ทีมนักประดิษฐ์ของไทยจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย คว้ารางวัลสูงสุดของงาน Platinum Award จากเวที “2024 Kaohsiung International Invention and Design EXPO” ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน โดย 2 ผลงานที่ได้รับ Platinum Award ได้แก่
- “ซุปกึ่งสำเร็จรูปรสไทยสำหรับผู้สูงอายุ”
ผลงานจากทีมมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ วิทยาภรณ์ และคณะ พัฒนาอาหารฟังก์ชันที่ตอบโจทย์โภชนาการผู้สูงอายุ ด้วยสูตรที่เน้นคุณค่าทางอาหารสูงสุด พร้อมสมุนไพรและวิตามินที่ช่วยเสริมสุขภาพ
- “Wonder Smile Premium Toothpaste”
ผลิตภัณฑ์จาก บริษัท ดับเบิ้ลยูแอล 333 จำกัด ที่ใช้เทคโนโลยี Nano Micellar & Aquanized Ion ในการช่วยทำความสะอาดช่องปาก
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอแสดงความยินดีกับทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทย ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยจากเวที “2024 Kaohsiung International Invention and Design EXPO” ในครั้งนี้
นอกจากนี้ ยังมีประดิษฐกรรมและและนวัตกรรมของทีมนักประดิษฐ์ไทยอีก 5 ผลงานที่ได้รับ Special Prize on stage จากองค์กรนานาชาติ ได้แก่
– รางวัลจาก Croatian Inventors Network สาธารณรัฐโครเอเชีย ผลงานเรื่อง “ชุดอุปกรณ์ตรวจสุขภาพอัจฉริยะพร้อมระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับแนะนำการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก เสือสีนาค และคณะจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
– รางวัลจาก Indonesian Innovation and Invention Promotion Association สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ผลงานเรื่อง “สบู่สารสกัดมะพร้าวออร์แกนิคโดยเทคโนโลยีการสกัดแบบไร้ขยะ” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– รางวัลจาก Romanian Inventors Forum โรมาเนีย ผลงานเรื่อง “ชุดอพยพประสิทธิภาพสูงสำหรับป้องกันไฟและการสูดดมควันพร้อมออกซิเจนแบบพกพาเพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคลในอุบัติเหตุไฟไหม้” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชัย พงษ์ประเสริฐ และคณะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
– รางวัลจาก Macao Innovation and Invention Association เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผลงานเรื่อง “ระบบหลอมรวมวิทยุสื่อสาร” โดย นายองอาจ อาจพินิจและนายบุญญฤทธิ์ พรหมรักษ์ จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
– รางวัลจาก World Invention Intellectual Property Associations ไต้หวัน ผลงานเรื่อง “MFGrowth : นวัตกรรมแผ่นหลังคาดูดซับคลื่นรังสีอัลตราไวโอเลตประสิทธิภาพสูงสำหรับ โรงเรือนปลูกผักกาดหอม” โดย นายศักดินันท์ ปฏิภาณญาณกิตติ และคณะ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมแสดงความยินดีและชื่นชมศักยภาพของนักประดิษฐ์ไทยที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศและการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของประเทศไทยในเวทีนานาชาติในครั้งนี้ รวมทั้ง การสร้างโอกาสในการส่งเสริมและต่อยอดสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่ได้รับรางวัล เพื่อสนับสนุนการต่อยอดนวัตกรรมที่ได้รับรางวัล ในการนำไปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการใช้ประโชน์เพื่อพัฒนาประเทศในด้านต่างๆต่อไป