รองศาสตราจารย์พัชรี สวนแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา พร้อมด้วย นายอุดมวิทย์ วันกุมภา เจ้าหน้าที่สำนักงาน (บริหารงานทั่วไป) ร่วมการประชุมหารือเพื่อยกระดับมาตรการการรับน้องใหม่และความปลอดภัยในสถาบันอุดมศึกษา โดยนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมรับน้องอย่างสร้างสรรค์ ปราศจากความรุนแรงทุกรูปแบบ และเน้นความปลอดภัยของนิสิตนักศึกษาเป็นหลัก เน้นย้ำเรื่องกิจกรรมการรับน้องและประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา โดยกิจกรรมที่จัดให้มีลักษณะสร้างสรรค์ สร้างความอบอุ่นให้รุ่นน้อง และไม่ขัดต่อระเบียบสถาบัน กฎหมาย และประเพณีอันดีงาม นโยบายการการจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ และประชุมเชียร์ในสถาบันอุดมศึกษา โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.กระทรวง อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. น.ส.วราภรณ์ รุ่งตระการ ที่ปรึกษาด้านระบบบริหาร การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้บริหารกระทรวง อว. อธิการบดี ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดและกำกับทุกแห่ง เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๗ ณ ห้องประชุม ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ชั้น ๓ อาคารอุดมศึกษา ๑ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (ถนนศรีอยุธยา) แบ่งออกเป็น ๔ มาตรการ ๑๒ แนวทางป้องกัน คือ

มาตรการที่ ๑ : ด้านการป้องกัน

๑. ให้สถาบันอุดมศึกษาออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยกำหนดการพิจารณาอนุญาต การรับผิดชอบ การกำกับ ระยะเวลาการจัดกิจกรรม รูปแบบแนวทาง รวมทั้งบทลงโทษกรณีฝ่าฝืน ตามความเหมาะสม

๒. ให้สถาบันอุดมศึกษามีมาตรการในการป้องกันการจัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจของนิสิตนักศึกษา อาทิ การควบคุมการเข้าออกในพื้นที่ การติดตั้งกล้องวงจรปิด

๓. รุ่นพี่ที่จัดกิจกรรมจะต้องได้รับการคัดเลือก มีการเตรียมความพร้อม พัฒนาทักษะ จิตสำนึกก่อนการจัดกิจกรรม และจะต้องเสนอโครงการจัดกิจกรรมเป็นลายลักษณ์อักษร และจัดกิจกรรมได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว

๔. ให้สถาบันอุดมศึกษาเปิดเผยรูปแบบกิจกรรม ระเบียบข้อบังคับ กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจกับนิสิต นักศึกษา บุคลากร ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ให้เข้าใจวัตถุประสงค์ นโยบาย และมาตรการ รวมทั้งมีทัศนคติที่ดีต่อการจัดกิจกรรม ตลอดจนร่วมตรวจสอบการจัดกิจกรรมได้

๕. ก่อนจัดกิจกรรมต้องแจ้งรายละเอียดของกิจกรรมให้น้องใหม่รับทราบ ซึ่งน้องใหม่สามารถพิจารณาเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามความสมัครใจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามาสังเกตการณ์ได้

๖. ให้สถาบันอุดมศึกษามีการประเมินผล และแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดกิจกรรมต้อนรับน้องใหม่และประชุมเชียร์ มีการยกย่องชมเชยนิสิต นักศึกษา ที่มีการจัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน

มาตรการที่ ๒ : ด้านการเฝ้าระวัง

๑. ให้สถาบันอุดมศึกษาเฝ้าระวังช่วงการจัดกิจกรรม โดยให้มีช่องทางการสื่อสารข้อมูลระหว่างนักศึกษา สื่อมวลชน ผู้ปกครอง และสถาบันอุดมศึกษา

๒. ให้สถาบันอุดมศึกษาเฝ้าระวังนักศึกษารุ่นพี่กลุ่มเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสม

๓. ให้สถาบันอุดมศึกษาประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ เพื่อตรวจตราเป็นประจำ หรือตรวจค้นภายในสถาบันอุดมศึกษาตามความเหมาะสม

๔. หากมีกรณีการจัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายและจิตใจของนิสิต นักศึกษา ให้สถาบันอุดมศึกษารายงานต่อสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อย่างทันท่วงที

มาตรการที่ ๓ : ด้านความรับผิดชอบ

๑. ให้ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาแต่ละสถาบัน ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบในการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการข้างต้นอย่างเคร่งครัด กรณีเกิดการจัดกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมที่ก่อให้เกิดควาเสียหายต่อร่างกายและจิตใจของนิสิต นักศึกษา ให้สถาบันอุดมศึกษาเร่งสร้างความเข้าใจ หรือออกแถลงการณ์กับสังคมให้รับทราบข้อเท็จจริง แนวทางการแก้ปัญหา และการเยียวยา เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ทั้งนี้ หากเกิดความรุนแรงและพบว่าเป็นความบกพร่องของสถาบันอุดมศึกษา ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาต้องมีส่วนรับผิดชอบในความบกพร่องดังกล่าว

มาตรการที่ ๔ : ด้านการลงโทษ

  • ให้ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาพิจารณาลงโทษตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ของสถาบัน รวมถึงดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจัง เด็ดขาด และรวดเร็วกับนิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หลักความเสมอภาค และหลักกฎหมาย