เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 คณะพยาบาลศาสตร์ได้จัดนิทรรศการ เรื่อง รู้จัก Ebola กันเถอะ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อไวรัสดังกล่าวกำลังระบาดและคร่าชีวิตบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนจำนวนมากในปีนี้ ถึงแม้ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่การรู้จักเชื้อไวรัส Ebola นับว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้สนใจ นิทรรศการจัดขึ้น ณ โถงหน้าของอาคาร 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้รับความสนใจจาก บุคลากร เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา

ความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา

โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus) อัตราป่วยตาย ประมาณร้อยละ 60-90 ติดต่อจาก คนสู่คน ผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำอสุจิ จากผู้ติดเชื้อ และสัมผัสหรือรับประทานสัตว์ป่าโดยเฉพาะค้างคาวหรือลิง
ระยะฟักตัว นับจากการเริ่มติดเชื้อจนเริ่มแสดงอาการ คือ 2 – 21 วัน
อาการและอาการแสดง
ระยะแรก มีไข้เฉียบพลัน อ่อนเพลียมาก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะและเจ็บคอ
ระยะหลัง อาเจียน ท้องเสีย ผื่นผิวหนัง ไตและตับทำงานบกพร่อง และในบางรายพบการ
ตกเลือดทั้งภายในและภายนอก
คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป
1. ติดตามข้อมูลข่าวสารที่เป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุข
. ไม่สัมผัสสัตว์ป่าที่นำเข้ามาโดยไม่ผ่านการตรวจโรคทั้งที่ป่วยและไม่ป่วย
3. ไม่รับประทานสัตว์ป่าทุกชนิด โดยเฉพาะสัตว์จำพวกลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่า หรือสัตว์แปลกๆ มาประกอบอาหาร
คำแนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา
1. หลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาด (ขณะนี้มี 4 ประเทศ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราเลโอน และเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย)
2. หากจำเป็นต้องเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดต้อง
– หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย
– หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะสัตว์จำพวก ลิง หรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่า หรือสัตว์แปลกๆมาประกอบอาหาร
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือด หรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือศพของผู้ป่วยที่เสียชีวิต
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากมีความจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย และล้างมือบ่อยๆ
– หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินทาง
แหล่งข้อมูล : สำนักงานโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค