รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้มอบหมายให้ ดร.สุวมาลย์ ม่วงประเสริฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ นำอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คือ ผศ.ดร.ประวรดา โภชนจันทร์ และนักศึกษาของหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม, หลักสูตรสิ่งแวดล้อมเมืองและอุตสาหกรรม และหลักสูตรอนามัยสิ่งแวดล้อมและสาธารณภัย (หลักสูตรใหม่) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รับโล่รางวัล ระดับทอง จากอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งจัดงานมอบรางวัลผลการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) ระดับประเทศ ประจำปี 2563 จากจำนวนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่ได้รับรางวัลตามเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว 52 แห่ง โดยแบ่งเป็นระดับทอง 12 แห่ง ระดับเงิน 16 แห่ง และระดับทองแดง จำนวน 24 แห่ง ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 28 มีนาคม 2565 ซึ่งนักศึกษาหลักสูตรดังกล่าว ได้รับโล่รางวัลระดับทอง เป็นปีที่ 2 จากการดำเนินการกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) ประจำปี 2562 ซึ่งใช้โครงการ Green & Clean University 2019 (พื้นที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ ถนนสิรินธร) ได้จัดการขยะเศษอาหารภายในศูนย์วิทยาศาสตร์เป็นน้ำหมักชีวภาพที่มีคุณภาพสูง และการดำเนินการกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมาหวิทยาลัย (Green Youth) ประจำปี 2563 โดยใช้โครงการ Green & Clean University 2020 (พื้นที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ ถนนสิรินธร) ได้จัดการขยะเศษอาหารภายในศูนย์วิทยาศาสตร์เป็นปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพสูง ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจและความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยการใช้ Problem Based Learning เป็นฐาน เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ได้ฝึกปฏิบัติจริง และมีทักษะทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสื่อสารทางด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี จึงเป็นเยาวชนของประเทศที่มีคุณภาพและมีทักษะในศตวรรษที่ 21 สามารถสร้างทักษะและเพิ่มมูลค่าให้ตนเอง ชุมชน สังคมและประเทศ และสอดคล้องกับนโยบายและแผนกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นไปตาม พรบ.การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 13 และตัวชี้วัดความยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษา ชุมชนและสังคม (Green/Sustainability) คือ SDG 12 : การสรรหาแหล่งอาหารและสิ่งอุปโภคบริโภค และการจัดการขยะและการลดการใช้ทรัพยากร (Responsible Consumption and Production) ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาพึงเป็นแบบอย่างให้แก่สังคมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ