ด้วยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีพันธกิจสำคัญ 4 ด้าน คือ การเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมถึงความสำคัญของการได้สนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้จัดโครงการส่งเสริมการปลูกกล้วยเล็บมือนางและการแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยที่ทรงคุณค่าให้อยู่คู่สังคมไทย เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่มีความใกล้ชิดกับวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย กล้วยเล็บมือนางเป็นพันธุ์กล้วยชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดชุมพรซึ่งมีพื้นที่ปลูกมากที่สุด ประมาณ 6,000 ไร่ มีตลาดรองรับที่แน่นอนทั้งในด้านของการขายผลสดและแปรรูป อีกทั้งเป็นของฝากที่ได้รับความนิยมของจังหวัดชุมพร ปัจจุบันกล้วยเล็บมือนางได้รับความนิยมในการบริโภคและมีการปลูกเชิงเศรษฐกิจทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีผลเล็กกะทัดรัด เนื้อนุ่ม รสหวาน และมีกลิ่นหอม แต่ด้วยข้อจำกัดในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรมีการปลูกกล้วยเล็บมือนางโดยไม่มีหลักวิชาการหรือการจัดการที่เหมาะสมทำให้ผลผลิตไม่ได้คุณภาพ ประกอบกับขาดองค์ความรู้ในการแปรรูปกล้วยเล็บมือนางไปเป็นนวัตกรรมอาหารที่หลากหลาย ด้วยเหตุนี้จึงได้เล็งเห็นว่ากล้วยเล็บมือนางเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแปลงเกษตรหลังโรงสีข้าวสวนดุสิต อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี มีพื้นที่ว่างที่เหมาะสมในการทดลองปลูกกล้วยเล็บมือนางสายพันธุ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาสภาพการปลูกและขยายสายพันธุ์กล้วยเล็บมือนางที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และนำผลผลิตกล้วยเล็บมือนางที่ได้ไปเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต้นแบบ ได้แก่ ไอศกรีมกล้วยเล็บมือนาง แครกเกอร์หน้ากล้วยเล็บมือนางอบ และกล้วยเล็บมือนางอบ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพในการผลิตจำหน่าย ทั้งนี้เพื่อประเมินศักยภาพในการแปรรูปผลผลิตกล้วยเล็บมือนางข้างต้นเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อการใช้ประโยชน์ต่อกิจกรรมของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในอนาคต และพัฒนานวัตกรรมสู่ชุมชนตามอัตลักษณ์และนโยบายเพื่อความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยในลำดับต่อไป

การปลูกกล้วยและการดูแลต้นกล้วย

ผลผลิตที่ได้

กรณีศึกษา โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกษตรปลอดภัย และนันทนาการ จังหวัดปราจีนบุรี

จากพื้นที่รกร้างสู่แหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา และ หน่วยบริการความรู้เกี่ยวกับการวิจัยพัฒนาแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ที่เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2542  สู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน ในปี 2547 มีการจัดตั้ง  “บริษัทโรงสีข้าว จำกัด (Suan Dusit Rice Mill Co., Ltd.)”  ได้รับมาตรฐานการรับรองมากมาย

การดำเนินงานที่สำคัญนอกจากการผลิตข้าวภายใต้ตราสัญลักษณ์ “ข้าวสวนดุสิต” แล้ว บริษัทโรงสีข้าว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา สถานที่ศึกษาดูงาน และ การสอนรายวิชาข้าว ต้นแบบของโรงสีข้าวเพื่อการเรียนรู้และการทำเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้องค์ความรู้จากการปฏิบัติจริงของธุรกิจโรงสีข้าวมาสู่ห้องเรียน โดยตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว การสีข้าว การตรวจสอบทางกายภาพและทางเคมี ตลอดจนการหุงข้าวพร้อมรับประทาน

สถานการณ์แห่งความพลิกผันในช่วง COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน  นำมาสู่รูปแบบของ  “ศูนย์การเรียนรู้เกษตรปลอดภัยและนันทนาการ จังหวัดปราจีนบุรี” เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาความเป็นเลิศมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ.2566-2570 ที่เน้นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น หรือ ชุมชนอื่น บนพื้นที่ 20 ไร่ เลขที่ 190 หมู่ 13 ถ.สุวรรณศร ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี โดยมีความร่วมมือระหว่าง ศูนย์การศึกษานครนายก ผู้ดำเนินการ ร่วมมือกับ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและหน่วยงานอื่น ๆ ด้านการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และดูแลด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดภัย โดย สำนักกิจการพิเศษ ปัจจุบันมีการดำเนินการรีแพ็คข้าวหอมมะลิ ตราข้าวสวนดุสิต และปลูกพืชผลทางการเกษตรปลอดสารพิษ อาทิ เมล่อน มะม่วงน้ำดอกไม้ เห็ดนางฟ้าภูฐาน และพีชผักสวนครัว เป็นต้น

ปัจจุบัน โรงสีข้าว มีการปรับเปลี่ยนพืชผลตามสถานการณ์ แบ่งพื้นที่ 10 ไร่ ปลูกทุเรียน “หลิน” และ”หลง” ทุเรียนหมอนทอง ฝรั่งไส้แดงไต้หวัน มะม่วงน้ำดอกไม้และมะม่วงแก้วขมิ้น และมีการต่อยอดองค์ความรู้ขยายผลไปสู่การดำเนินงาน ณ พื้นที่ด้านข้างหอพัก เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เช่นเดียวกับโรงสีข้าว และนำมาประกอบอาหารอีกด้วย

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : – เอกสารเผยแพร่ ความเป็นมา บจก. โรงสีข้าวสวนดุสิต สู่การเป็น ศูนย์การเรียนรู้เกษตรปลอดภัยและนันทนาการ จังหวัดปราจีนบุรี
                                                    – เว็บไซต์ http://nakhonnayok.dusit.ac.th

แหล่งที่มา

https://sdg.dusit.ac.th/2023/2680/