ความเป็นมาของพื้นที่
สืบเนื่องมาจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในอัตลักษณ์ด้านอาหารและคำนึงถึงความสำคัญของการส่งเสริมการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคในสังคมไทย จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การปลูก การแปรรูป ไปจนกระทั่งถึงการตลาด (From farm to table) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนตามแนวทาง BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) โดยพื้นที่ในการดำเนินงานตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ในท้องที่ ตำบลโคกโคเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี บนเนื้อที่อันเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยทั้งหมดจำนวนประมาณ 200 ไร่ ประกอบด้วย ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ทางจังหวัดสุพรรณบุรีมอบให้มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเพื่อใช้ทำประโยชน์ในการจัดการศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2538 จำนวนประมาณ 175 ไร่ และที่ดินที่ทางมหาวิทยาลัยดำเนินการซื้อเพิ่มเติม จำนวนประมาณ 25 ไร่ ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2560 ได้จัดสรรพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี จำนวนประมาณ 50 ไร่ ที่อยู่ในส่วนของที่ดินสาธารณประโยชน์ในการดำเนินงาน “โครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ”
โครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ เป็นหนึ่งในกิจกรรมย่อยของ “โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในเขตพื้นที่ภาคกลางตามแนวทาง BCG Economy” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินงานพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่มีลักษณะเป็นการบูรณาการพันธกิจและอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเข้าไว้ด้วยกัน ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของสถาบันวิจัยและพัฒนากับภาคีเครือข่ายความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อ “ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างผลตอบแทนที่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนในชุมชนพื้นที่” โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นฐานในการยกระดับห่วงโซ่การผลิตสินค้าทางการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนกระทั่งปลายน้ำ ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูปอาหาร/เครื่องดื่ม/เครื่องสำอาง/วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า การสร้างช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ การส่งเสริม
การท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามอัตลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยีด้านเกษตรปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต
ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในเขตพื้นที่ภาคกลางตามแนวทาง BCG Economy” กำหนดให้มีการใช้ชื่อแบรนด์ในการดำเนินงานว่า HOMKHAJORN “หอมขจร” ซึ่งมีที่มาจากชื่อของ ดอกขจร อันเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่แสดงถึงชื่อเสียงและความดีงามในการทำคุณประโยชน์ของมหาวิทยาลัยต่อชุมชนสังคมที่ฟุ้งขจรขจายออกไป โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานใน 5 มิติ คือ มิติที่ 1 การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมส่งเสริมการผลิตทางการเกษตร มิติที่ 2 การแปรรูปผลผลิตและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มิติที่ 3 การสร้างช่องทางการตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย มิติที่ 4 การถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านเกษตรปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต และ มิติที่ 5 การส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรทางการเกษตรตามเอกลักษณ์พื้นถิ่น
จุดเริ่มต้นทำแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ
การดำเนินงานโครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในเขตพื้นที่ภาคกลางตามแนวทาง BCG Economy ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะได้ดังนี้
ระยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2560 – 2561 ดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมเชิงพื้นที่ในลักษณะ
ชุดโครงการ เรื่อง “การส่งเสริมการผลิตข้าวปลอดภัยในจังหวัดสุพรรณบุรี” ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จำนวน 21 โครงการ รวมทั้งการดำเนินการปรับพื้นที่ขนาด 5 ไร่ ในพื้นที่วิทยาเขตสุพรรณบุรี เพื่อจัดทำแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ ได้แก่ การยกคันดินขนาดกว้าง 3 เมตร สูง 1 เมตร สำรวจพื้นที่ เก็บตัวอย่างดินและน้ำเพื่อวิเคราะห์คุณภาพดิน ปลูกปอเทืองบนพื้นที่ 4.5 ไร่ เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน
ไถกลบปอเทือง และปลูกถั่วเขียวเพื่อบำรุงดิน เป็นต้น
ระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2562 ดำเนินงานแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ โดยการวางระบบจัดการน้ำ การจัดเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การปรับภูมิทัศน์ การปรับถนนทางเข้า-ออกให้สามารถใช้สัญจรได้สะดวก การติดตั้งระบบน้ำอัตโนมัติ การปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ได้แก่ การปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองหายากจำนวน 20 ชนิด ในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) การปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ข้าวโพดหวาน มะพร้าว ว่านหางจระเข้ มะกรูด มะนาว กะเพรา โหระพา ขิง และข่า เป็นต้น ทั้งนี้ ในการดำเนินงานระยะที่ 2 นี้ ได้มีการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก จำนวน 9 หน่วยงาน เพื่อร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี และกรมราชทัณฑ์
ระยะที่ 3 ปี พ.ศ. 2563 ดำเนินงานแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ โดยการถมดินปรับพื้นที่รวมถึงปรับภูมิทัศน์ต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อรองรับสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในอนาคต เช่น โรงคัดแยกผลผลิตทางการเกษตร โรงปุ๋ยหมักชีวภาพ โรงเรือนสำหรับปลูกมะเขือเทศ และเมล่อน เป็นต้น และดำเนินการทำบันทึกความร่วมมือกับอย่างเป็นรูปธรรมกับจังหวัดสุพรรณบุรี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีวัตถุประสงค์ในการทำความร่วมมือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างผลตอบแทน
ที่เป็นธรรมตามแนวทางเกษตรปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิตให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดอื่น ๆ ในเขตพื้นที่ภาคกลาง รวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพสินค้าทางการเกษตร ตลอดจนพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ สาธิต และเทคโนโลยีด้านการเกษตรและอาหาร ทั้งนี้ ในการทำความร่วมมือในระยะดังกล่าวนี้ สวทช. ได้สนับสนุนโรงเรือนปลูกพืชจำนวน 3 โรงเรือน ได้แก่ โรงเรือนอัจฉริยะ โรงเรือนกึ่งอัจฉริยะ และโรงเรือนปกติ เพื่อเป็นต้นแบบในการสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน โดยโรงเรือนอัจฉริยะเป็นโรงเรือนที่มีระบบควบคุมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้เหมาะสมต่อการเจริญของพืชผ่านระบบเซ็นเซอร์ เช่น ความชื้นในดิน อากาศ อุณหภูมิ และความเข้มแสง ที่สามารถควบคุมการทำงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ตด้วยสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการเพาะปลูกพืชนอกจากนี้ยังได้ดำเนินการทำบันทึกความร่วมมือเพิ่มเติมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัย ด้านงานวิชาการ และงานบริการชุมชนในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมการแปรรูปอาหาร/เครื่องดื่ม/เครื่องสำอาง และนวัตกรรมทางการเกษตร โดยในระยะแรกได้ดำเนินกิจกรรมการร่วมลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์สภาพดินและน้ำ การวางระบบบำบัดน้ำที่ไม่เหมาะสมต่อการทำเกษตร และการสนับสนุนพันธุ์พืชในการนำมาปลูกสาธิตทดลองภายในแปลง เช่น เสาวรส เบญจมาศ เป็นต้น
ระยะที่ 4 ปี พ.ศ. 2564 ดำเนินงานสร้างความเข้มแข็งให้มหาวิทยาลัยสวนดุสิตมุ่งไปสู่มหาวิทยาลัย
ที่มีความเป็นเลิศในกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ประกอบไปด้วยกิจกรรม (1) โครงการเมืองต้นแบบเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ หรือ “หอมขจรฟาร์ม” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชน จำแนกออกเป็น 4 กิจกรรมย่อย ได้แก่ (1.1) HOMKHAJORN GARDEN ดำเนินงานเพาะปลูกเมลอน 3 สายพันธุ์ ปลูกพืชเศรษฐกิจ พืชผักสวนครัว ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ดินหอมขจรฟาร์ม” (1.2) HOMKHAJORN COSMETIC ดำเนินงานพัฒนาผลิตภัณฑ์จากว่านหางจระเข้จำนวน 2 ชุด ได้แก่ ชุดต้านเชื้อแบคทีเรีย จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ และชุดบำรุงผิว จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ (1.3) HOMKHAJORN FOOD & BEVERAGE ดำเนินงานพัฒนาตำรับอาหารจากผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ พล่ากุ้งว่านหางจระเข้ เมี่ยงคำบอลลูน ว่านหางจระเข้ใบเตย บัวลอยเผือก และ Aloe Vera Honey Lemon การพัฒนาผลิตภัณฑ์เลมอนในน้ำผึ้ง และ (1.4) HOMKHAJORN SEED & SEEDLING ดำเนินงานการจัดทำผลิตภัณฑ์ชุดปลูกว่านแสงอาทิตย์ และการจัดทำผลิตภัณฑ์ชุดปลูกว่านสี่ทิศ เป็นต้น (2) การดำเนินงานเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินงานด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรีใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภออู่ทอง อำเภอสามชุก อำเภอสองพี่น้อง อำเภอบางปลาม้า โดยมีกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 11 กลุ่ม
ภาพที่ 20 ชุดปลูกว่านแสงอาทิตย์ และชุดปลูกว่านสี่ทิศของ ของ HOMKHAJORN SEED & SEEDLING
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
https://homkhajorn.dusit.ac.th
https://web.facebook.com/หอมขจรฟาร์ม-110875160636902
https://www.dusit.ac.th/2020/848257.html
https://www.homkhajorn-abd.com/Start
https://www.sentangsedtee.com/today-news/article_152133
https://siamrath.co.th/n/169156
https://www.dusit.ac.th/2020/816001.html
https://www.dusit.ac.th/2020/816001.html
https://www.dusit.ac.th/2020/838714.html
https://www.dusit.ac.th/2020/804317.html
https://www.nstda.or.th/home/news_post/20200227-2/
http://gotomanager.com/tags/หอมขจรฟาร์ม/