“ตำหนักเยาวภา” หนึ่งในตึกเก่าบริเวณวังสวนสุนันทา ได้ชื่อว่าเป็นทาวน์เฮาส์แห่งแรกของเมืองไทย เพราะลักษณะของตึกที่เป็นส่วนๆเหมือนกัน ติดต่อกัน ลักษณะเดียวกับห้องชุดในปัจจุบัน

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักเยาวภาขึ้น  ตามแบบอย่างของพระราชวังเบินสตอฟ ประเทศเดนมาร์ก เป็นอาคารยกพื้นสูง 2 ชั้น โครงสร้างอาคารที่ใช้ระบบผนังก่ออิฐถือปูนรับน้ำหนัก (Load Bearing Masonry Wall Structure) มีเพียงเสาและคานรับระเบียงเท่านั้นที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นไม้สัก หลังคาทรงสูง เดิมมุงด้วยกระเบื้องว่าว ตกแต่งด้วยไม้ฉลุลายสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้นหรือทรงขนมปังขิง เคยใช้เป็นที่ประทับของพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 3 พระองค์  คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาพรรณพิไลย และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง สวนสุนันทาได้กลายเป็นสถานศึกษา ปัจจุบันตำหนักเยาวภา อยู่ภายในรั้ว และภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

          มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ก่อตั้งมายาวนานด้วยพื้นฐานอันแข็งแกร่งจากโรงเรียนการเรือน และการศึกษาปฐมวัย ซึ่งโรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกของรัฐในประเทศไทย โดยสอนในระบบมอนเตสเซอรี่ คือใช้การเล่น และกิจกรรม เป็นหลักในการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ต้องสนุกสนาน และดึงดูดความสนใจได้  ช่วงปฐมวัย เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดต่อการสร้างคุณภาพชีวิตของคน  เป็นการวางรากฐานของการเจริญเติบโตและพัฒนาการในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา และการพัฒนาดังกล่าว จะได้ผลมากขึ้นผ่านกิจกรรมด้าน ศิลปะ และดนตรีนั่นเอง

          อาคารตำหนักเยาวภา นับเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่ายิ่งด้านประวัติศาสตร์และด้านสถาปัตยกรรม จึงได้รับการพิจารณาจากสมาคมสถาปนิคสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2537 โดยได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ซึ่งการดูแล การอนุรักษ์ตึกเก่า ที่มีคุณค่าทางศิลปะและเป็นมรดกของชาติ มีความยากและต้องใช้ค่าใช้จ่ายมหาศาล เนื่องจากต้องใช้วัสดุพิเศษ และช่างที่มีความชำนาญอย่างสูงเฉพาะด้าน การดูแลตึกเก่าโดยไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์  หรือไม่ให้สังคมมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และชื่นชมของเหล่านั้น จึงอาจไม่คุ้มค่าในการซ่อมแซม  มหาวิทยาลัยสวนดุสิตตระหนักถึงความสำคัญในการอนุกรักษ์ตึกเก่าและการประยุกต์ใช้งานที่เหมาะสม จึงมีโครงการปรับปรุงตำหนักเยาวภาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของเด็ก ผ่านกิจกรรมศิลปะ ดนตรีและลีลาศ นับเป็นการพัฒนาอย่างลงตัวเป็นแนวทางการอนุรักษ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          การอนุรักษ์ และการพัฒนา นำมาใช้งานแบบร่วมสมัย จะทำให้ของเก่าไม่ผุพัง เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา แต่กลับมีประโยชน์ มีคุณค่า คงเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ ตราบนานเท่านาน

1. ช่วงเวลาและการใช้พื้นที่

อาคารสร้างเมื่อ พ.ศ. 2454 ไม่มีหลักฐานของปีที่อาคารก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่เจ้านายทั้งหลายเริ่มประทับปี 2462 เป็นต้นมา(จาก 50ปี วิทยาลัยครูสวนดุสิต) แต่คาดว่าหลังจากนั้นก็ใช้เป็นเขตพระราชฐานฝ่ายใน

ครั้นถึงปี พ.ศ.2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้น บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ในวังสวนสุนันทาหวั่นเกรงภัยจากการเมืองจึงได้ทยอยย้ายกันออกไปจากวังจนหมดสิ้น บางพระองค์ได้เสด็จออกไปอยู่หัวเมืองและหลายพระองค์เสด็จลี้ภัยการเมือง

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระตำหนักต่างๆในวังสวนสุนันทาและพระราชวังดุสิต ทั้งหมดถูกจัดให้เป็นสถานปฏิบัติงานส่วนราชการต่างๆดังนั้นพระตำหนักหลังนี้ได้ปรับเปลี่ยนให้มีสภาพที่เหมาะสมกับการใช้งานโดยใช้เป็นตึกธุรการ ตึกเรียน และตึกนอน(ชั้นบน) ของนักเรียนโรงเรียนการเรือนที่อยู่ประจำ

ชั้นล่างใช้เป็นตึกเรียน ตึกธุรการ และชั้นบนใช้เป็นตึกนอนของนักเรียนประจำ เป็นอาคารที่สำคัญที่สุดของโรงเรียนการเรือน พระนคร สมัยที่ยังไม่มีอาคารเรียน 1 (ครบรอบ 50 ปี วิทยาลัยครูสวนดุสิต )

ในปี พ.ศ.2517 ได้มีการบูรณะปรับปรุงซ่อมแซมอาคารพระตำหนักเยาวภาอีกครั้ง เพื่อใช้เป็นชั้นเรียนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินก่อนวันเรียนของภาควิชาการศึกษาพิเศษ คณะครุศาสตร์

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2534 ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารพระตำหนักเยาวภาและเปลี่ยนเป็นสำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏสวนดุสิต อาคารพระตำหนักเยาวภานับเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่ายิ่งด้านประวัติศาสตร์และด้านสถาปัตยกรรมดังนั้นจึงได้รับการพิจารณาจากสมาคมสถาปนิคสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2537 โดยได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ป้ายอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2537 รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

2. ข้อมูลภาพถ่ายและแผนที่

สวนสุนันทา แผนที่ปี พ.ศ.2475
ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2506
ตึกเยาวภาได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2517 เพื่อใช้เป็นอาคารเรียนของนักเรียนสาธิตการศึกษาพิเศษ (เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน) ภาควิชาการศึกษาพิเศษ
สนาม หลังตึกเยาวภา ไม่ทราบปีที่ถ่าย
สนามบาสเก็ตบอล หลังตึกเยาวภา ไม่ทราบปีที่ถ่าย
กิจกรรมโครงการอบรมนาฏศิลป์ตะวันตก(บัลเล่ต์)สำหรับเยาวชน  ณ อาคารเยาวภา
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556

3. รูปแบบทางกายภาพ

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอาคารพระตำหนักเยาวภาเป็นพระตำหนักตึกยกพื้นสูง ประมาณ 1 เมตร มีจำนวนชั้น 2 ชั้น หลังคาทรงสูงมุงด้วยกระเบื้องว่าว ปูพื้นด้วยไม้สักทั้งหลัง สีเดิมของอาคารเป็นสีเขียว

ต่อมามีการบูรณะปรับปรุงเป็นสีน้ำตาล ภายในพระตำหนักแบ่งเป็นส่วนๆ คล้ายอาคารชุด มีช่องประตูเปิดติดต่อกันมีช่องลมเป็นลายไม้จำหลักเหนือขอบประตูเป็นหน้าต่างเป็นบานกระทุ้ง ตรงกลางเป็นบานเกล็ด ลักษณะภายในอาคาร จะเป็นกลุ่มห้องเรียงกันไป มีประตูเปิดติดต่อกันโดยตลอดทั้งชั้นล่างและชั้นบน

ห้องชั้นบนแต่ละห้องจะเชื่อมติดต่อถึงกัน ด้วยเฉลียงด้านหน้าที่ยาวตลอดแนวอาคารมีหน้าต่างเป็นกระทุ้ง ตอนกลางเป็นเกล็ดไม้เปิดถึงพื้น ภายในมีลูกกรงไม้ชั้นบนของอาคารมีเฉลียงด้านหน้ายาวตลอดทั้งอาคาร

 มีบันไดใหญ่ขึ้นลงแยกกัน 2 บันไดและบันไดเล็กอยู่ริมสุดของอาคารทางด้านทิศใต้ เสาของอาคารมีลายปูนปั้น บันไดทางขึ้นหน้าอาคารทำด้วยหินอ่อนสีขาว และเป็น “ทาวน์เฮาส์หลังแรกของประเทศไทย”

รูปแบบในสภาพปัจจุบันถูกปรับปรุงให้เหมาะกับการใช้พื้นที่ และ แก้ปัญหาเรื่องของความเสื่อมสภาพ ความชื้น น้ำฝน แมลง และปัญหาอื่นๆ ทำให้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆถูกเปลี่ยนไป เช่น การ มีกระจกเป็นผนังภายนอกของเฉลียงชั้นที่ 1 การติดเครื่องปรับอากาศ ทำให้มีการคิดบานหน้าต่างและประตุที่ต้องป้องกันอากาศเย็นไหลออกเป็นต้น

ที่ตั้งอาคารศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภายในมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

4. สำรวจสภาพอาคารพร้อมจัดทำแบบสถาปัตย์

วัดระยะขนาดอาคารด้วยเครื่องระยะเลเซอร์
ปูนบัวชั้น 2 กะเทาะแตกออก                                    ปูนฉาบผนังกะเทาะแตกออก (Grid line H’-J-5)
เนื่องจากเกิดสนิมขุมในเหล็กเสริม (Grid line D-E-8)
ภาพด้านหลังอาคาร
ภาพด้านหลังอาคาร
ภาพด้านซ้ายอาคาร (หัวหน้าเข้าหาอาคาร)

5. ผลการสำรวจการทรุดตัวของอาคาร (Settlement survey)

          จากการสำรวจการทรุดตัวของอาคาร ด้วยวิธีการเปรียบเทียบการทรุดตัวของฐานรากภายในโครงสร้างอาคารได้ผลดังนี้

          ผลสำรวจการทรุดตัวครั้งที่ 1 พบว่า ฐานรากตำแหน่ง Grid line O-7 มีค่าการทรุดตัวน้อยที่สุด จึงกำหนดให้เสาตำแหน่ง Grid line O-7 เป็นเสาอ้างอิง ฐานรากที่ทรุดตัวมากที่สุด คือ ฐานรากตำแหน่ง Grid line E-8 และ H-5 มีค่าการทรุดตัวเท่ากับ -0.21 มิลลิเมตร และมีอัตราการทรุดตัวเท่ากับ -0.010 มิลลิเมตรต่อวัน

          ผลสำรวจการทรุดตัวครั้งที่ 2 พบว่า ฐานรากที่ทรุดตัวมากที่สุด คือ ฐานรากตำแหน่ง Grid line G-5 มีค่าการทรุดตัวเท่ากับ -0.31 มิลลิเมตร และมีอัตราการทรุดตัวเท่ากับ -0.008 มิลลิเมตรต่อวัน (ใช้ เสาตำแหน่ง Grid line O-7 เป็นเสาอ้างอิง)

          ค่าการทรุดตัวและอัตราการทรุดตัวที่ได้จากการสำรวจทั้ง 2 ครั้ง แสดงดังภาพ

แสดงค่าการทรุดตัวของอาคาร (หน่วยเป็นมิลลิเมตร)
แสดงค่าการทรุดตัวของอาคาร (หน่วยเป็นมิลลิเมตรต่อวัน)
แสดงค่าการเอียงตัวของพื้นชั้น 1
แสดงระนาบการเอียงตัวของพื้นชั้น 1
ปรับปรุงอาคารและยกปรับความสูงของอาคาร

6. พิธีบวงสรวงพระตำหนักเยาวภา

พิธีบวงสรวงพระตำหนักเยาวภา เพื่อบูรณปฎิสังขรณ์พระตำหนักเยาวภาใช้เป็นพื้นที่จัดการเรียนรู้ สำหรับเด็กผ่านกิจกรรมด้านศิลป ดนตรี และลีลาศ และเพื่อความเป็นสิริมงคล ณ พระตำหนักเยาวภา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วันที่ 21 กันยายน 2562 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นประธานในพิธี

พิธีบวงสรวงพระตำหนักเยาวภา เพื่อบูรณปฎิสังขรณ์พระตำหนักเยาวภาใช้เป็นพื้นที่จัดการเรียนรู้ สำหรับเด็กผ่านกิจกรรมด้านศิลป ดนตรี และลีลาศ และเพื่อความเป็นสิริมงคล ณ พระตำหนักเยาวภา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วันที่ 21 กันยายน 2562

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :

https://www.dusit.ac.th/2019/744100.html/nggallery/page/1

แหล่งที่มา

https://sdg.dusit.ac.th/2022/2127/